CTA Coronary ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ที่ใช้งานมานานก็ย่อมเกิดความเสื่อมเป็นธรรมดา ยิ่งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและการทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียดของคนยุคปัจจุบัน ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจที่กว่าจะแสดงอาการก็มักเป็นหนัก หรืออาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า



อายุน้อยหรืออายุมาก…ก็เสี่ยงโรคหัวใจได้

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ย่อมมีความเสื่อมของหลอดเลือดตามวัย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน (Coronary Artery Disease) และสำหรับคนที่ยังอายุไม่มาก แม้ความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะน้อยกว่า แต่ก็มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นพลิ้ว (Cardiac Arrhythmia) ที่ต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มชา-กาแฟเป็นประจำ มีความเครียดสูง


สัญญาณอันตรายของ…โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ วิงเวียน ใจสั่น หายใจขัด หายใจเหนื่อยหอบ หรือหน้ามืดเป็นลมอยู่บ่อยๆ นี่อาจเป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดหัวใจที่จำเป็นต้องรีบตรวจให้พบ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน


ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพหัวใจ

  • ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยง เช่น มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นโรคอ้วน และไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รวมถึงเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจในด้านอื่นๆ
  • ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น มีความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจอื่นๆ
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น สูบบุหรี่จัด ทำงานที่มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ คุณภาพการนอนไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย

การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการทำ CTA คืออะไร ?

CTA (Computed Tomography Angiography) เป็นเทคโนโลยีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อการตรวจคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้น ซึ่งก่อนหน้านี้การทำ CTA จะนิยมใช้ในการประเมินอาการผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาส การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Post Coronary Bypass Graft) และการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิด (Coronary Anomalies) เพราะการทำ CTA จะแสดงให้เห็นเป็นภาพสามมิติของหลอดเลือดหัวใจ และลักษณะการบายพาสแต่ละเส้น ตำแหน่งของหลอดเลือดหัวใจที่ผิดปกติ รวมทั้งขดลวด (Stent) ที่ใส่ไว้ด้วย จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก

สำหรับการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ โดยปกติ แพทย์จะใช้การทำ CTA ร่วมกับการตรวจหัวใจด้วยการทำคลื่นสะท้อนความถี่สูง ที่เรียกว่า Echo (Echocardiogram) ซึ่งหากผลการตรวจ Echo หัวใจพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยวิธี CTA เพื่อใช้ยืนยันลักษณะการไหลเวียนของเลือด รวมถึงตำแหน่งรั่วหรือความผิดปกติต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้แน่ชัดว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันหรือไม่ และเกิดขึ้นในบริเวณใดของหัวใจ


วิธีการตรวจหัวใจด้วยวิธี CTA

ก่อนทำการตรวจหัวใจด้วยวิธี CTA แพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียด มีการซักประวัติการแพ้ และวิเคราะห์ผลเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสรุปว่าควรเข้ารับการตรวจด้วยการทำ CTA หรือไม่

การทำ CTA เป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ทำได้รวดเร็วและปลอดภัย โดยแพทย์จะทำโดยฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำ ก่อนที่จะทำการเอกซเรย์ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนพัก 1-2 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล