ทุกเพศควรรู้ ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

       โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) คือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคติดต่อที่พบได้สูงขึ้นในปัจจุบันและเป็นโรคที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิด ผู้ติดเชื้ออาจไม่ทราบว่าภายในร่างกายได้รับเชื้อแล้ว แต่จะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิดอาจไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเริ่มต้น แต่จะเริ่มทำลายระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายก่อนจะแสดงอาการออกมาภายหลัง



โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง?

โรคซิฟิลิส (Syphilis)

       เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ Treponema pallidum โดยเชื้อโรคนี้จะสามารถติดต่อผ่านทางต่างๆ ได้ดังนี้ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับการป้องกันที่เหมาะสมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และทางช่องปาก และยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสทางร่างกายได้อีกด้วย เช่น การสัมผัสแผลเปิด/แผลติดเชื้อตามร่างกาย การจูบ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางเลือดรวมถึงการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบประสาทอีกด้วยจึงถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัวมากๆ อีกโรคหนึ่ง


โรคหนองในแท้ (Gonorrhoea)

       เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย การติดเชื้อจากโรคหนองในแท้สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันโดยมีหรือไม่มีน้ำอสุจิก็ได้ และยังติดต่อได้ทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก ทางช่องปาก หรือการสัมผัสเยื่อบุตามอวัยวะต่างๆ อันตรายอีกหนึ่งอย่างของโรคหนองในคือส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะในเพศหญิงอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยาก และท้องนอกมดลูก


โรคหนองในเทียม (Chlamydia)

       โรคหนองในเทียมลักษณะคล้ายโรคหนองในแท้ แต่โรคหนองในเทียมเกิดได้จากเชื้อหลายชนิดกว่าโรคหนองในแท้ และมีลักษณะโรคที่เกิดขึ้นได้เล็กกว่า สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสเยื่อบุผิวตามอวัยวะต่างๆ เช่น องคชาต ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ช่องปาก ลำคอโดยเชื้อจะอยู่ในสารคัดหลั่งรวมไปถึงน้ำอสุจิด้วย หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็สามารถติดเชื้อมาได้โดยตรง


โรคเริม (Herpes)

       โรคเริมสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเชื้อจากผู้ติดเชื้อ เช่น การจูบ การสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ และจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ โดยโรคเริมสามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีก็จะทำให้โรคสงบขึ้นได้ แต่หากช่วงไหนที่ผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำเชื้อเริมก็จะสามารถกลับมาแสดงอาการได้อีก


เชื้อไวรัส HPV

       เชื้อ HPV เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกที่ติดต่อได้ง่ายทางเพศสัมพันธ์ หรือจากการสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศของผู้ที่มีเชื้อ หากได้รับเชื้อ HPV เชื้อตัวนี้จะเข้าไปเปลี่ยนเซลล์ปากมดลูกให้มีความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด เชื้อ HPV มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่เชื้อ HPV ชนิดที่ก่อมะเร็งที่พบได้บ่อย คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70% และสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ได้


เชื้อไวรัส HIV

       เชื้อไวรัส HIV คือเชื้อที่สามารถติดต่อได้ง่ายมากๆ การติดเชื้อหลักจะสามารถติดได้จากเลือด เช่น การส่งผ่านเชื้อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ และการใช้ของที่ติดเชื้อร่วมกัน เช่น การใช้สารเสพติด หรือแม้กระทั่งการใช้เข็มติดเชื้อ และสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีการป้องกันที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเลือดก็จะสามรถติดต่อได้ง่ายมากขึ้น


โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminatum)

       โรคหูดหงอนไก่เป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ 6 และสายพันธุ์ที่ 11 ซึ่งเชื้อ HPV สายพันธุ์นี้สามารถติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ และยังสามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัสผิวหนังได้ด้วย


โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasi)

       เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อ Trichomonas vaginalis โดยเชื้อตัวนี้มีขนาดเล็กมากๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มักจะพบได้บ่อยในเพศหญิง และไม่ค่อยแสดงอาการในระยะเริ่มต้น


อาการจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง?

สำหรับอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะคล้ายกันบางอาการ ได้แก่

    • เป็นผื่นหรือคันที่อวัยวะเพศ

    • มีอาการแสบเวลาปัสสาวะ

    • เจ็บแผล เป็นตุ่ม หรือมีหนองที่อวัยวะเพศ

    • มีติ่งหรือก้อนเนื้อขึ้นบริเวณผิวหนัง

    • เจ็บปวดที่อวัยวะเพศหรือท้องน้อย

    • มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์

แต่จะมีบางอาการจะจำเพาะกับอวัยวะของแต่ละเพศ


อาการในเพศชาย

    • มีน้ำหรือหนองออกมาจากท่อปัสสาวะ

    • มีแผลริมแข็งที่อวัยวะเพศ


อาการในเพศหญิง

    • คันหรือตกขาวในช่องคลอด

    • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

    • สีของตกขาวผิดปกติไปจากเดิม


พฤติกรรมใดบ้างที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

    • การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดโดยไม่มีการป้องกัน

    • การใช้สารเสพติด รวมถึงใช้อุปกรณ์เสริมทางเพศร่วมกัน

    • บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายให้บริการทางเพศโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

    • บุคคลมีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน

    • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือ ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด (ช่องทางใดช่องทางหนึ่งหรือทุกช่องทางที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์)

    • คู่เพศสัมพันธ์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    • มีประวัติการป่วยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปในรอบปีที่ผ่านมา


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ติดต่อได้ทางใดบ้าง?

    • เชื้อสามารถส่งต่อจากคนสู่คนผ่านเลือด น้ำอสุจิ อวัยวะเพศ และของเหลวในร่างกาย ซึ่งมักส่งต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

    • โรคบางโรคติดต่อจากการสัมผัสทางใดทางหนึ่งได้แก่ ทางปาก ช่องคลอด หรือทวารหนัก

นอกเหนือจากเพศสัมพันธ์แล้ว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังสามารถส่งต่อจากคนสู่คนด้วยการใช้เข็มร่วมกัน การให้เลือด หรือแม้กระทั่งจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ หรือขณะคลอดบุตรได้


ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างไรบ้าง?

    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง

    • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียวที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรค

    • รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้โรคบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีน HPV ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงอีกด้วยครับ