โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก

 โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็กเป็นโรคของระบบทางเดินปัสสาวะในเด็กที่พบบ่อยที่สุด อุบัติการณ์ของโรคขึ้นอยู่กับอายุ เพศ เชื้อชาติ ประมาณร้อยละ 3-7 ในเด็กที่มีไข้  ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย 

 

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract Infection : UTI)

โดยทั่วไปหมายถึง โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนหรือส่วนล่างก็ได้

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรือ กรวยไตอักเสบ (Acute pyelonephritis)

ส่วนใหญ่จะมีไข้สูงเป็นหลัก ในเด็กเล็กอาจมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีอาการจำเพาะอื่น เด็กโตอาจมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเอว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

เด็กจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนบางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย

 

การวินิจฉัย  

ทำได้โดยการตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะและการเพาะเชื้อปัสสาวะ การเก็บปัสสาวะจะต้องเก็บอย่างถูกวิธีและส่งตรวจภายใน 30 นาที เด็กที่ติดเชื้อมักตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ บางรายอาจตรวจพบเม็ดเลือดแดง หรือพบเชื้อแบคทีเรีย  เด็กที่ปัสสาวะเป็นเลือดสดๆอาจมีนิ่วหรือเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดที่มีเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ (Hemorrhagic cystitis)  การเพาะเชื้อปัสสาวะจะมีแบคทีเรียในปัสสาวะปริมาณมากกว่า 100,000 cfu เชื้อส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียกรัมลบ เช่น E.coli , Proteus, Klebsiella   ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ในอุจจาระ หรืออยู่บริเวณอวัยวะเพศ  ถ้าทำความสะอาดไม่ดี หรือมีการบาดเจ็บบริเวณนี้ เชื้อก็จะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ไปตามท่อไต หรือถึงไตได้    นอกจากนี้ในเด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือด เช่นทารกแรกเกิด หรือเด็กโตที่ติดเชื้อในกระแสเลือดชนิดรุนแรงเช่น Staphylococcus aerius หรือ Pseudomonas aeruginosa เชื้อเหล่านี้สามารถกระจายมาที่ไตได้โดยตรง เด็กที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะพบว่ามีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยร้อยละ 30-40 ดังนั้นในเด็กเล็กจึงแนะนำในการตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงของไตและกระเพาะปัสสาวะ (Renal bladder ultrasonography) เพื่อตรวจดูขนาด รูปร่างของไต ตรวจความผิดปกติอื่น เช่น ไตบวมน้ำ (Hydronephrosis) นิ่ว ฝีหนอง เนื้องอกที่ไต หรือถุงน้ำในไต  การตรวจฉีดสี Cystogram เป็นการตรวจดูลักษณะของกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต และท่อปัสสาวะ ตรวจภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) ความผิดปกติของท่อปัสสาวะ หรือกระเพาะปัสสาวะอื่นๆ

 

การรักษาและป้องกัน  

เด็กที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจำเป็นที่จะต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วและขนาดที่เหมาะสม ในรายที่ไม่รุนแรงสามารถให้เป็นยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน แต่ถ้ารายที่รุนแรงหรือในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดควรให้ทางหลอดเลือดดำ โดยระยะเวลาของการให้ยานาน 7-14 วัน ในเด็กทารก หรือมีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยแพทย์อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยรับประทานทุกวัน ซึ่งระยะเวลาการให้ยาขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังควรเน้นการดูแลความสะอาดของอวัยวะเพศเด็ก เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ลดการใช้ผ้าอ้อมไม่ใส่ตลอด 24 ชั่วโมง เด็กผู้ชายควรรูดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเพื่อทำความสะอาด ปรับพฤติกรรมการขับถ่าย ไม่กลั้นปัสสาวะ และ รักษาภาวะท้องผูก

 

ภาวะแทรกซ้อน  

ในระยะแรกถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดโดยเฉพาะในเด็กทารกซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้   ในระยะยาวสามารถทำให้เกิดแผลเป็นที่ไต ความดันโลหิตสูงในวัยผู้ใหญ่ หรือ ในรายที่มีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยและมีการติดเชื้อซ้ำๆหลายครั้งจะทำให้การทำหน้าที่ของไตเสื่อมลง และรุนแรงจนเกิดไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

 

สรุป  

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็กเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เด็กอาจมาด้วยอาการไข้สูงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการจำเพาะอื่น ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เด็กที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะพบว่าบางรายมีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะที่เป็นมาแต่กำเนิดร่วมด้วย จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีเพิ่มเติมตามความเหมาะสม การติดตามและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดช่วยลดการติดเชื้อซ้ำและภาวะแทรกซ้อนระยะยาว