หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)

เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็น ‘หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และแม้จะพบว่ามีอาการมากหรือน้อยอย่างไร การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ คือ MRI (เครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า) ร่วมกับการ X-ray กระดูกสันหลังในท่าทางต่างๆ โดยเฉพาะ X-ray ในท่าก้ม, เงย ยังมีความจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องแม่นยำต้องอาศัยผลการตรวจจากเครื่องมือดังกล่าว เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง แต่การตรวจลักษณะนี้มีข้อดีคือ เป็นการตรวจที่ไม่มีอันตรายและไม่เจ็บ



หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทพบได้จากการตรวจ

หลังจากที่แพทย์ทำการตรวจด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยและประเมินว่าผู้ป่วย มีภาวะหรืออาการอย่างไรบ้าง ดังนี้

  • มีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือไม่
  • ถ้ามีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นทั้งหมดกี่ตำแหน่ง
  • ตำแหน่งใดเป็นตำแหน่งที่เป็นปัญหาสำคัญ ส่งผลต่ออาการปวดของผู้ป่วย
  • มีภาวะอื่นๆ ของกระดูกสันหลังเป็นสาเหตุร่วมหรือไม่ เช่น กระดูกทรุด กระดูกสันหลังเคลื่อน ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม-อักเสบ เนื้องอก เส้นเลือดผิดปกติ ถุงน้ำ (cyst)

การรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

การรักษามักจะเริ่มจากการให้ยา การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ซึ่งมีโอกาสที่จะหายได้ แต่หากการรักษายังไม่ได้ผล ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยแน่ชัดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การรักษาอื่นๆ ที่อาจจะพิจารณา ได้แก่ การฉีดยาประเภทสเตียรอยด์ร่วมกับยาชาเข้าโพรงไขสันหลัง หรือฉีดเข้าไปตำแหน่งใกล้เส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของการปวด


สิ่งที่ควรทราบของการฉีดยารักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

  • อาจจะได้ผลในรายที่เป็นไม่มาก
  • อาจจะได้ผลไม่นาน
  • อาจจะไม่ได้ผลเลยในกรณีที่หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรง
  • มีข้อเสียของสเตียรอยด์
  • ไม่ได้แก้ปัญหาการกดทับของเส้นประสาท แต่ช่วยลดการอักเสบที่เป็นสาเหตุร่วมของอาการเจ็บปวด

การรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทด้วยวิธีอื่นๆ

การลดแรงดันในหมอนรองกระดูก เพื่อลดอาการกดเบียดของเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ๆ (Disc decompression) หลักการคือ ใช้คลื่นวิทยุ (Radio Frequency), Laser, อุปกรณ์ให้พลังงานความร้อนโดยผ่านเข็มสอดเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลัง ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบสลายไป หรือลดปริมาตรลง ทำให้ลดการกดต่อเส้นประสาทใกล้เคียง

ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคนทั่วไปว่า การรักษาแบบนี้เป็นการรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลอดภัยและได้ผลดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะใช้ได้ในรายที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่มาก และมักได้ผลเฉพาะผู้ป่วยที่อายุน้อย เพราะในรายที่อายุมากมักมีภาวะอื่นๆ ในการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย เช่น แคลเซียม (Spur) และการตีบแคบของช่องหมอนรองกระดูกสันหลังหรือโพรงไขสันหลัง เพราะฉะนั้น วิธีนี้จึงได้ผลในผู้ป่วยเฉพาะบางราย และต้องเป็นไม่มากเท่านั้น

ข้อเสีย

  • ค่าใช้จ่ายสูง
  • ได้ผลจำกัดในบางกรณี

ข้อสำคัญ

ต้องเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ถ้าใช้ในทุกรายเพื่อหวังจะเป็นการรักษาทดแทนการผ่าตัด จะพบว่าโอกาสประสบผลสำเร็จจะน้อยลง


การผ่าตัดแผลเล็ก ในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

      • การผ่าตัดผ่านกล้องขนาดเล็ก Endoscopic discectomy สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยการตัดหมอนรองกระดูกส่วนที่ทับเส้นประสาทออกไป เหมาะกับในกรณีที่หมอนรองกระดูก (ยังไม่แตก หรือแตกแล้วแต่ยังไม่เคลื่อนไปไกล) ปูดออกมาทับเส้นประสาท การผ่าตัดชนิดนี้ ต้องมีความชำนาญ มีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าใช้กับภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทในทุกรายก็จะมีอัตราการกลับมาเป็นใหม่พอสมควร
      • การผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง Microscope สามารถตัดเอาหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกไป ในบางรายที่มีการแตก หรือเคลื่อนออกไปของหมอนรองกระดูกก็สามารถจัดการได้หมด แต่การผ่าตัดต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ โดยมีค่าใช้จ่ายปานกลางหากเทียบกับการรักษาอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อท่านมีปัญหาภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีการรักษาหลายอย่างแล้วแต่ความรุนแรง การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวางแผนการรักษาได้ทั้งระบบ จะทำให้ท่านได้รับการรักษาที่เหมาะสม ได้ผลดี ปลอดภัยและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม