โรคบางอย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาการก็ไม่ปรากฏจนแสดงให้รู้ว่าป่วย แต่การที่จะรู้ล่วงหน้าเพื่อการเข้ารับการรักษาได้ทันเวลาสามารถทำได้โดยการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะโรคบางอย่างก็แสดงอาการป่วยที่พบได้ทั่วไป เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง หรือปัสสาวะบ่อย หากท่านใดที่ไม่ค่อยได้สังเกตตัวเองและยังไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพก็นับว่าวิเคราะห์ได้ค่อนข้างยากว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไรหรือเปล่า อย่างโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่เรากำลังจะพูดถึงกัน
โรคนิ่วเป็นโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ นิ่วในไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ เป็นสาเหตุสำคัญของปัสสาวะมักจะไม่แสดงอาการปวด โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ นับว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบได้มากทั่วโลก ซึ่งพบในประเทศอุตสาหกรรมมากกว่าประเทศเกษตรกรรม และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในประเทศไทยโรคนิ่วในไตพบมากทางภาคอีสานประมาณร้อยละ 10-16 รองลงมาคือภาคเหนือ ส่วนมากพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในช่วงอายุ 30-40 ปี นอกจากนี้ คนที่เคยเป็นโรคนิ่วในไตแล้วยังมีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำที่สูงมาก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำที่ค่อนข้างสูง โรคนิ่วในไตจึงจัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก
นิ่วมีลักษณะเป็นก้อนหินปูน หรือก้อนผลึกเกลือแร่ที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้นปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่หลักๆ แล้วเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ สาเหตุภายในร่างกายของผู้ป่วยเอง และสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้ป่วย
ได้แก่ กรรมพันธุ์ พ่อแม่ที่เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วได้เช่นกัน, อายุและเพศ นิ่วในไตพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 ต่อ 1 และพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 7 ต่อ 1 พบมากในเด็กผู้ชายอายุน้อยกว่า 7 ปี และในผู้ใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป, ความผิดปกติของต่อมพาราธัยรอยด์ที่หลั่งฮอร์โมนควบคุมสารแคลเซียมออกมากกว่าปกติ, ระบบทางเดินปัสสาวะตีบแคบทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง, ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากสารต่างๆ ที่ถูกขับออกมาในน้ำปัสสาวะมากกว่าปกติ หรือผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือสูญเสียน้ำออกจากร่างกายในทางอื่นมาก เมื่อน้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง สารละลายในน้ำปัสสาวะก็จะมีโอกาสตกผลึกมากขึ้น, ความเป็นกรด/ด่างของน้ำปัสสาวะ, การอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, วัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ หรือยาบางอย่างก็สามารถทำให้เกิดนิ่วได้ เช่น ยาลดกรดที่กินเป็นเวลานานๆ เป็นต้น
อย่างเช่น สภาพภูมิศาสตร์ คนที่ป่วยเป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมักพบว่าอาศัยอยู่บนที่ราบสูง อย่างเช่นในประเทศไทยเราที่พบมากบริเวณภาคอีสานและภาคเหนือ, สภาพอากาศและฤดูกาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดนิ่ว โดยเฉพาะฤดูร้อนที่พบผู้ป่วยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากกว่าฤดูอื่นๆ เพราะอากาศร้อนทำให้เสียเหงื่อมาก ปัสสาวะจึงเข้มข้นและทำให้นิ่วโตเร็วขึ้น, ปริมาณน้ำดื่มและปริมาณเกลือแร่ที่ละลายอยู่ในน้ำของแต่ละท้องถิ่น ถ้าดื่มน้ำน้อยและมีเกลือแร่มากก็มีโอกาสที่ทำให้เกิดนิ่วได้มาก, โภชนาการ การบริโภคอาหารและการดื่มน้ำส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดของสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของก้อนนิ่ว เช่น การกินอาหารประเภทเครื่องในสัตว์, ยอดผัก หรือสาหร่าย ทำให้เกิดกรดยูริค หรือผักที่มีสารออกซาเลทสูง เช่น ผักโขม, หน่อไม้ หรือชะพลู ก็มีโอกาสเกิดนิ่วชนิดออกซาเลทได้ การขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น โปรตีน วิตามินเอ หรือการได้รับวิตามินดีมากเกินไป ก็ทำให้เกิดนิ่วได้ และอาชีพก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรามีโอกาสเป็นนิ่ว โดยเกษตรกรหรือคนที่ทำงานกลางแจ้งที่เสียเหงื่อมาก ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้น อาจเกิดตกผลึกของสารละลายในน้ำปัสสาวะ เกิดนิ่วขึ้นได้ คนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งทำให้กินแป้งและผักมากแต่โปรตีนน้อย จึงทำให้เกิดนิ่วประเภทออกซาเลต (Oxalate) ได้ง่าย ต่างจากคนที่มีรายได้สูงที่มีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วประเภทกรดยูริคและแคลเซียม เพราะมีการบริโภคโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และแร่ธาตุต่างๆ มากกว่า
นิ่วในไตหรือท่อไตจะทำให้มีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังตรงตำแหน่งของไต ปวดเสียด ปวดบิด หรือปวดเป็นพักๆ อาจมีปวดร้าวมาบริเวณท้องน้อย, ขาหนีบ, ถุงอัณฑะ หรือ แคมอวัยวะเพศหญิง อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือบางรายอาจไม่มีอาการแสดงเลย แต่อาการปวดหลังอาจต้องแยกให้ออกระหว่างปวดหลังจากการทำงานหนัก นั่งทำงานนานๆ แล้วกล้ามเนื้อหลังล้า อักเสบ หรือปวด ซึ่งเป็นอาการปวดเมื่อยที่คนในยุคนี้เป็นกันมาก และอาจทำให้สับสนว่าเป็นอาการของนิ่วได้ และถ้าก้อนนิ่วหลุดมาอยู่ในกรวยไตหรือท่อไต ก็จะมีอาการปวดอย่างรุนแรง เหงื่อออกมาก และเกิดเป็นพักๆ ปัสสาวะอาจมีสีเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ และมีอาการระคายเคืองอยากปัสสาวะ แต่ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย หากเกิดการติดเชื้อจะมีไข้ร่วมด้วย และถ้าปล่อยไว้นานๆ ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ไตบาดเจ็บเรื้อรัง ไตมีรูปร่างและทำงานผิดปกติมากขึ้น และสุดท้ายทำให้เกิดภาวะไตวาย
อาการของคนที่ป่วยเป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะนั้น เกิดจากการที่มีก้อนนิ่วไปอุดตันตามบริเวณต่างๆ ในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาการแสดงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว ตำแหน่งที่นิ่วอุดตันอยู่ นิ่วอุดทางเดินปัสสาวะมากน้อยแค่ไหน นิ่วเคลื่อนที่ได้หรือไม่ มีการติดเชื้อมากน้อยเพียงใด มีอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะมีเลือดปน ในระยะแรกร่างกายอาจขับก้อนนิ่วออกมาได้เองทางปัสสาวะ จะเห็นเป็นก้อนกรวดเล็กๆ ปนออกมาพร้อมกับปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้มีการอุดตันมากขึ้น เกิดการเสียดสีทำให้เกิดการบาดเจ็บและเลือดออก ในกรณีนี้อาจสังเกตได้ว่าปัสสาวะมีสีแดงมากขึ้นจากเลือด หรือมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อเพราะมีเนื้อบางส่วนหลุดออกมาด้วย และทำให้อยากถ่ายปัสสาวะอยู่ตลอด แต่ก็ถ่ายไม่ออก
ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น หากท่านมีอาการที่เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นนิ่วควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะถึงแม้ว่าโรคนิ่วจะไม่แสดงอาการให้เห็น แต่ก็ควรรักษาให้หายขาดอย่างจริงจัง เนื่องจากถ้าหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การรักษาโรคนิ่วในปัจจุบันมีหลายวิธี ซึ่งกระทำโดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (Urologist) ทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การรักษาแบบประคับประคอง การใช้ยาละลายนิ่ว การยิงสลายนิ่ว และการรักษาแบบผ่าตัด ทั้งนี้ วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่ว ขนาด ตำแหน่ง และการอุดตันทางเดินปัสสาวะของก้อนนิ่ว โดยศัลยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
การรักษาแบบประคับประคอง ใช้สำหรับในกรณีที่ท่านมีนิ่วก้อนเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร โดยส่วนมากมักจะหลุดออกไปได้เอง และเป็นนิ่วก้อนเล็กๆ ในเนื้อไตที่การผ่าตัดไม่สามารถหาก้อนนิ่วพบ หรือเมื่อทำการผ่าตัดแล้วอาจมีภาวะแทรกซ้อนไม่คุ้มกับการรักษา และยังใช้กับท่านที่มีนิ่วในไตทั้งสองข้างเป็นนิ่วแบบเขากวาง ที่เสี่ยงต่อภาวะไตวายได้มาก ซึ่งไม่เหมาะกับการผ่าตัด ส่วนการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 3,000 มิลลิลิตร หากมีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ผู้ป่วยควรจำกัดการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริคหรือแคลเซียมสูง ให้อาหารหรือยาบางอย่างเพื่อให้ปัสสาวะเป็นกรดหรือเป็นด่าง เพื่อไม่ให้มีสารตกผลึกชนิดที่เกิดนิ่วมากเกินไปในปัสสาวะ หากมีอาการปวดอาจให้ยาแก้ปวดประเภทมอร์ฟีน หรือยาคลายการหดเกร็ง เช่น บาราลแกน รวมถึงให้ยาต้านจุลชีพเมื่อมีอาการอักเสบติดเชื้อ แต่ในรายที่มีอาการปวดแบบบีดรัดที่รุนแรง เนื่องจากมีก้อนนิ่วเล็กๆ มาอุดรอยต่อระหว่างกรวยไตและท่อไต หรือที่ท่อไต การใช้ยาระงับปวดหรือยาคลายหดเกร็งอาจไม่ได้ผล ในกรณีนี้อาจใช้สายสวนปัสสาวะสวนผ่านขึ้นไป อาการปวดก็จะหายทันทีและเป็นการขยายท่อไปด้วย ซึ่งจะทำให้ก้อนนิ่วมีโอกาสหลุดออกไปได้เอง ยังไม่จำเป็นต้องรักษาถึงขั้นผ่าตัด
การรักษาโรคนิ่วโดยการรับประทานยาละลายนิ่ว เหมาะสำหรับผู้ป่วยรายที่เป็นนิ่วขนาดเล็กในไตหรือท่อไต มีลักษณะกลม เรียบ มีอาการปวดน้อย ไม่อักเสบรุนแรง และเหมาะในการรักษานิ่วชนิดยูริค นิ่วชนิดนี้สามารถละลายได้ด้วยการรับประทานยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ส่วนนิ่วชนิดที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบไม่มียาละลายนิ่ว ซึ่งถ้านิ่วมีขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตรก็มีโอกาสที่จะหลุดออกมาได้เองโดยการดื่มน้ำมากๆ หรือใช้ยาขับปัสสาวะช่วย
การสลายนิ่ว (Extracorporeal shock wave lithotripsy – ESWL) เป็นการทำให้นิ่วแตกโดยใช้พลังงานจากภายนอกร่างกาย คือ คลื่นเสียงที่มีความจำเพาะ มีคลื่นเสียงต่ำที่มีพลังงานสูง ทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ หรือเป็นผงในที่สุด โดยไม่ทำอันตรายกับเนื้อเยื่อโดยรอบ โดยนิ่วที่แตกออกเป็นเม็ดเล็กๆ หรือเป็นผงจะถูกขับออกมาเองพร้อมกับน้ำปัสสาวะ เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่ต้องดมยาสลบ ไม่มีแผล ไม่มีการสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในร่างกาย ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาที่ทำการรักษา มีความปลอดภัยสูง ใช้ระยะเวลาในการสลายนิ่วประมาณ 1 ชั่วโมง หลังการรักษาผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้โดยใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัด
วิธีนี้เหมาะสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตหรือท่อไตที่มีขนาดปานกลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร และมีปริมาณไม่มาก ก้อนนิ่วอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำการสลายแล้วได้ผลดี คือ นิ่วที่ไต กรวยไต ท่อไตส่วนบน และท่อไตบริเวณใกล้ทางออก
โรคนิ่วไม่สามารถรักษาโดยใช้วิธีการสลายนิ่วได้หมดทุกประเภท ซึ่งมีข้อห้ามในการสลายนิ่วในผู้ป่วยที่มีการอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปัสสาวะเป็นหนอง ฯลฯ เพราะเมื่อสลายนิ่วแล้วนิ่วกระจายจะทำให้มีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ตำแหน่งของนิ่วอยู่บริเวณท่อไตส่วนกลางหรือส่วนที่กระดูกบัง นิ่วที่กรวยไตอยู่ติดแน่นกับผนัง นิ่วที่มีการอุดตันของท่อไตร่วมด้วย ผู้ป่วยเป็นนิ่วเขากวาง (Stag horn) ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก และต้องทำการสลายหลายครั้งซึ่งจะทำให้ไตช้ำได้ รวมถึงผู้ป่วยที่รูปร่างใหญ่ มีน้ำหนักมากและอ้วน และเพื่อให้นิ่วสลายหมด อาจต้องทำ 1-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว
การรักษาโดยการทำผ่าตัด ผู้ป่วยต้องมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคือ มีอาการปวดแบบบีบรัดอย่างรุนแรง มีอาการติดเชื้อบ่อยครั้ง ก้อนนิ่วที่ท่อไตหรือกรวยไตมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร ไตและท่อไตมีภาวะบวมน้ำ มีนิ่วในไตทั้งสองข้าง และมีไตเพียงข้างเดียวเนื่องจากไตอีกข้างหนึ่งเสื่อมแล้ว การผ่าตัดนิ่วมีทั้งการผ่าตัดเปิด ซึ่งเป็นการผ่าตัดเปิดแผลความยาว 15-20 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปเอานิ่วออกทางกรวยไตหรือเนื้อไต ใช้ในผู้ป่วยรายที่มีก้อนนิ่วขนาดใหญ่หรือเป็นนิ่วเขากวางซึ่งไม่สามารถนำออกได้ด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบรุนแรงซึ่งต้องรีบนำนิ่วออก และผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมมากแล้ว เป็นต้น วิธีนี้อาจทำให้สูญเสียเนื้อไตหรือเนื้อไตฝ่อเพราะขาดเลือด หลังผ่าตัดใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน การเจาะผิวหนังส่องกล้องเพื่อกรอนิ่ว วิธีนี้เป็นการหลีกเลี่ยงการผ่าตัดขนาดใหญ่ โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เจาะผ่านทะลุผิวหนังเป็นรูเล็กๆ เข้าไปที่กรวยไต แล้วใช้กล้องส่องตามเข้าไปหาก้อนนิ่วจนพบ จากนั้นจึงทำการกรอนิ่วให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วดูดหรือคีบนิ่วออกมา เหมาะสำหรับนิ่วขนาดปานกลางและไม่แตกแขนง ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็กประมาณ 3 เซนติเมตร จึงพักฟื้นน้อยกว่าวิธีแรก วิธีสุดท้ายเป็นการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ เป็นการผ่าตัดที่ใช้วิธีการสอดกล้องเข้าไปในรูท่อปัสสาวะที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ จึงทำให้ไม่มีรอยแผลผ่าตัด เมื่อพบก้อนนิ่วจึงทำการคีบ ขบ และกรอนิ่วออกมา เหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและท่อไต นับว่าเป็นวิธีที่พักฟื้นน้อยกว่าสองวิธีแรกข้างต้น
เมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์แล้วว่าจะทำการรักษาโรคนิ่วด้วยวิธีใด ผู้ป่วยควรเตรียมตัวให้พร้อมและมารับการรักษาตามนัด หากมีความผิดปกติก่อนวันนัด เช่น มีไข้ หรือมีอาการปวดมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัดไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานมากจนอิ่มเกินไป ควรแจ้งโรคประจำตัวและประวัติการแพ้ยาให้แพทย์ทราบ ซึ่งหากคนไข้มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน การดำเนินของโรคควรอยู่ในระยะปกติ และให้รับประทานยารักษาโรคประจำตัวตามปกติ แต่ควรงดยาที่มีฤทธิ์ห้ามการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรืออาหารเสริมต่างๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการรักษา และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนมาพบแพทย์
นิ่วเป็นโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ และเป็นโรคที่พบได้บ่อย สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เป็น รวมทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง และโรคไตระยะสุดท้าย และทำให้ถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัดกะปริดกะปรอย ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะเรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ และมองข้ามไป อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคตจนกลายเป็นเรื่องที่ยากจะแก้ไขได้