เพราะหัวใจต้องการ "การดูแล" รวมอาหารบำรุงหัวใจ

หลอดเลือดหัวใจมีหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจให้ทำหน้าที่เป็นปกติ เพราะฉะนั้นหากเกิดความผิดปกติกับหลอดเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะตีบ แตก หรือตัน ย่อมส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพหัวใจด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงหลอดเลือดหัวใจจึงมีความสำคัญและช่วยให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรงในระยะยาว



อาหารบำรุงหลอดเลือดหัวใจ

อาหารดังต่อไปนี้ช่วยบำรุงหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรง

 

1) ถั่วเปลือกแข็ง

ถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วอัลมอนด์ แมคคาเดเมีย วอลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีกรดไขมันโอเมก้า 3 และไขมันดีชนิดไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวและไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Monounsaturated and Polyunsaturated Fats) ที่สามารถลดระดับไขมันเลวในเลือด (LDL Cholesterol) ที่เป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบได้ ปริมาณที่แนะนำบริโภคต่อวัน คือ 2 ช้อนโต๊ะ


2) สมุนไพร

สมุนไพรนานาชนิดอย่างขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม กะเพรา โหระพา สะระแหน่ มีสารพฤษเคมีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ทำให้ลดการอักเสบของหลอดเลือดและยังสามารถช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้นด้วยในกรณีคนที่เป็นโรคหัวใจที่ต้องจำกัดอาหารรสเค็ม


3) ปลาทะเลและปลาน้ำจืดไทย

ปลานอกจากจะมีคุณค่าสารอาหารสูง ยังมีกรดไขมันที่จำเป็นในกลุ่มโอเมก้า 3 ช่วยลดการแข็งตัวของหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปลาไทย ไม่ว่าจะเป็นปลากะพง ปลาทู ปลาดุก ปลานิล ปลาสวาย  เป็นต้น


4) น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอกมีกรดไขมันดีชนิดไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง (Monounsaturated Fats) และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ช่วยป้องกันหลอดเลือดจากความเสื่อมและการอักเสบภายในหลอดเลือด


5) ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืชที่มีใยอาหารสูง ทั้งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน กรดอะมิโน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดูแลหัวใจและหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม


อาหารสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจ

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อาหารที่เหมาะสม ได้แก่ 

  • เลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น เนย เนื้อสัตว์ติดมัน เค้ก คุ้กกี้ ฯลฯ
  • ไม่กินอาหารที่ทอดในน้ำมันซ้ำหลายครั้ง เช่น กล้วยทอด ทอดมัน ปาท่องโก๋ ฯลฯ เนื่องจากมีไขมันทรานส์สูง
  • งดใช้น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เพราะมีไขมันไม่ดีคือไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก
  • เน้นอาหารไขมันต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ ฯลฯ
  • กินผักผลไม้ที่มีกากใยมาก เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร ฯลฯ
  • ปรุงอาหารด้วยการอบ นึ่ง ลวก ย่างแทนการทอด

การดูแลหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรง นอกจากใส่ใจเรื่องอาหารแล้ว การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลสุขภาพใจให้ห่างไกลความเครียดคือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้หลอดเลือดหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกช่วงวัย ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็กสุขภาพร่างกายและหัวใจอยู่เสมอ เพื่อให้รับมือได้ทันและทำการรักษาได้อย่างถูกต้องหากหัวใจอ่อนแอ