ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ มีไขมันไปสะสมระหว่างหลอดเลือดเป็นไขมัน จนในที่สุดทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดเกิดขึ้น
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ได้แก่ ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปที่มี…
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- สูบบุหรี่
- เครียด
- น้ำหนักเกิน
- ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคของหลอดเลือด
อาการของโรคหลอดเลือดแข็งขึ้นกับความรุนแรงของการตีบตันและขึ้นกับว่าเส้นเลือดที่ตีบตันนั้นเกิดขึ้นกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนใด
- หากเกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกาย หรืออาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
- หากเกิดขึ้นกับหลอดเลือดสมองจะทำให้เกิดภาวะเลือดเลี้ยงสมองไม่พอ อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง เดินเซ เวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อนหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต
- หากเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตจะทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
- หากเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงแขนขาจะทำให้เกิดอาการปวดน่องเวลาเดินไกล ๆ ถ้าเป็นมาก ๆ อาจทำให้นิ้วเท้าขาดเลือดจนต้องตัดนิ้วหรือตัดขาได้
การตรวจค้นหาวินิจฉัยและวัดความดันตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคโดยที่ยังไม่แสดงอาการจะช่วยให้ทราบว่าผู้ใดมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, อัมพฤกษ์ อัมพาต, นิ้วเท้าตาย เป็นต้น การวัดความดันช่วยให้ทำการป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคเหล่านั้นได้ในอนาคต
ABI (Ankle – Brachial Index) เป็นการตรวจวัดความดันโลหิตของแขนและขาและขาทั้ง 4 และนำความดันโลหิตของขามาเปรียบเทียบกับความดันโลหิตของแขนจะได้ตัวเลขออกมาเป็น Index ซึ่งคนปกติจะมี Index ต่ำกว่า 0.9 – 1.3 ถ้าความดันโลหิตของขาน้อยกว่าความดันโลหิตของแขน หรือ Index ต่ำกว่า 0.9 แสดงว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม และบุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่าคนทั่วไป จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ขึ้นในอนาคต รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดเลือด ซึ่งทำให้เกิดความพิการได้
ส่วนการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นและการวัดความดันนั้นสามารถกระทำได้ในบุคคลผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคของหลอดเลือดได้แก่
- อายุมาก
- สูบบุหรี่
- เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- โรคอ้วน
มีอาการที่สงสัยว่ามีการตีบตันของหลอดเลือด เช่น ปวดขาขณะเดิน, เจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น
ตรวจพบมีความผิดปกติของขา เช่น แผลที่ขาเรื้อรัง เพื่อที่จะได้ให้การป้องกันการเกิดภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตขึ้นได้ในอนาคต
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแข็งหรือโรคหลอดเลือดตีบโดยเฉพาะของแต่ละอวัยวะนั้น แพทย์ผู้ตรวจรักษาวินิจฉัยจะเป็นผู้ส่งตรวจเพื่อทำการรักษาต่อไป เช่น
- CT Angiography ของหลอดเลือดส่วนต่าง ๆ
- MRA
- Coronary Angiography
- Carotid and Cerebral Angiography
- Renal Angiography
- Peripheral Angiography
- ฯลฯ