โรคท้องร่วง

โรคท้องร่วง (Diarrhea)  

คือ ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวเกิน 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำบ่อยเกิน 1 ครั้ง หรือถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน 1 ครั้งต่อวัน ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย

สาเหตุของโรคท้องร่วง มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส และพบบ่อยในเด็กเล็ก เด็ก ๆ จะมีอาการปวดท้องและถ่ายเหลว ก่อนจะตามด้วยอาการขาดน้ำ จึงควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป และรับประทานอาหารอ่อนๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน


ท้องร่วงเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่พบได้บ่อย ได้แก่

  •      - การติดเชื้อแบคทีเรียจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดตามสุขอนามัย หรืออาหารที่ไม่ปรุงสุก
  •      - การติดเชื้อไวรัสและมีพยาธิในลำไส้
  •      - การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนทำการปรุงหรือรับประทานอาหาร
  •      - การใช้ภาชนะที่มีเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อน
  •      - ลำไส้มีการอักเสบ

อาการของโรคท้องร่วง

  •      - ถ่ายบ่อย (มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน)
  •      - แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด
  •      - คลื่นไส้ อาเจียน
  •      - บางรายอาจมีไข้
  •      - บางรายที่ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมาก อาจรู้สึกหน้ามืดเป็นลม หรือช็อกหมดสติ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อท้องร่วง

การรักษาและข้อควรปฏิบัติเมื่อท้องร่วง – โดยปกติแล้วผู้ที่มีอาการท้องร่วงจะสามารถหายได้เองและส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ที่มีอาการท้องร่วงสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ดังนี้

  •      - ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
  •      - รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด
  •      - งดอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดองต่างๆ
  •      - หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขลักษณะ
  •      - ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำก่อนรับประทานอาหาร
  •      - หากสงสัยว่ามีอาจติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการท้องร่วงนานเกิน 3 วัน มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการขาดน้ำ ถ่ายมีเลือดปนร่วมกับอาการปวดท้องเกร็ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการตรวจเบื้องต้น เช่น ตรวจอุจจาระเพื่อหาเชื้อ, ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ, การส่องกล้องเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่