เช็กอาการเตือน โรคมะเร็งหัวใจ ที่ควรพบแพทย์

     มะเร็งหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด (Angiosarcoma) ส่วนที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจเรียกว่า Rhabdomyosarcoma ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลแสดงความเชื่อมโยงว่าอาจสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการของโรคโดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการเฉพาะ แต่อาจมีลักษณอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจร่วมกับอาการของโรคมะเร็ง เป็นอาการเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไอมีเสมหะมักเป็นเสมหะสีขาว บวมรอบตา ขาและเท้าบวม เป็นต้น



โรคมะเร็งหัวใจ เกิดขึ้นได้อย่างไร

     ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดก้อนมะเร็งมาจากอวัยวะอื่น แล้วแพร่กระจายมาที่หัวใจเป็นส่วนใหญ่ (Secondary Tumor or Metastasis) เช่น ปอด เต้านม หลอดอาหาร ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ซึ่งมักพบแพร่มาที่ช่องเยื่อบุหัวใจหรือผนังหัวใจด้านนอกก่อน 

เนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากหัวใจเอง (Primary Cardiac Tumors : PCTs) พบได้น้อยมาก อุบัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 1,380/100 ล้านคน และส่วนใหญ่ยังจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ใช่เนื้อร้าย ถึง 90% เช่น Myxomas พบมากที่สุด, Rhabdomyomas พบมากในเด็ก


เนื้องอกชนิดเนื้อร้าย หรือ โรคมะเร็งหัวใจ

     เนื้องอกชนิดเนื้อร้าย หรือมะเร็งหัวใจ (Malignant Primary Tumors) พบได้น้อยมาก พบประมาณ 10% เท่านั้น ก้อนเนื้องอกที่หัวใจที่พบเยอะสุด เป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนในหัวใจ (Sarcoma) มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย โดยเฉพาะในช่วงวัย 40 ปี ซึ่งมีการพยากรณ์โรคที่แย่ อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี เพียง 14% เช่น มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด (Angiosarcomas) พบบ่อยสุดในผู้ใหญ่และรุนแรงมาก หรือ มะเร็งที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจ (Rhabdomyosarcomas) พบบ่อยสุดในเด็ก หรือคนอายุน้อย


การรักษาโรคมะเร็งหัวใจ

     การรักษาที่ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด คือ จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถ้าทำได้ หลักของการผ่าตัดต้องผ่าตัดมะเร็งออกให้หมดมากที่สุดที่ทำได้ มิฉะนั้นมะเร็งจะลุกลามมาใหม่ เพราะมะเร็งกลุ่มนี้ตอบสนองต่อการฉายแสง และยาเคมีบำบัดไม่ดี โดยปกติผนังหัวใจด้านขวาบนและล่างอาจตัดออกได้ แต่ถ้าลุกลามมาถึงหลอดเลือดแดงหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ การผ่าตัดจะยุ่งยากขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น

 พยากรณ์โรคมะเร็งหัวใจ แย่มากหากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษา จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ได้ประมาณ 3.8 ± 2.5 เดือนหลังได้รับการวินิจฉัย และถึงแม้จะรักษาโดยการผ่าตัดแล้ว เคสส่วนมากก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 1 ปี เพราะมะเร็งหัวใจจะแพร่กระจายได้เร็วมาก


อาการของโรคมะเร็งหัวใจ

อาจมีอาการหรือไม่มีอาการและพบโดยบังเอิญระหว่างการตรวจร่างกายทั่วไป แต่โดยทั่วไป เนื้องอกอาจแสดงอาการ 1 ใน 3 ข้อต่อไปนี้

  1. อาการทั่วๆไป ของมะเร็ง (Paraneoplastic syndrome) เช่น ไข้ ปวดข้อ น้ำหนักลด อ่อนแรง
  2. อาการแสดงทางหัวใจ
    • หน้าบวม, คอบวม, หลอดเลือดดำที่คอโป่ง จากก้อนมะเร็งไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ที่คอ
    • ตับโต, ท้องมานมีน้ำในช่องท้อง, ขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง เพราะมะเร็งไปขวางการทำงานของหัวใจห้องขวา
    • มีอาการเหนื่อยหอบ, นอนราบไม่ได้ วูบหมดสติ จากก้อนมะเร็งไปขวางการทำงานหัวใจด้านซ้าย เกิดภาวะหัวใจวาย
    • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • เจ็บหน้าอก ไอ จากมีเนื้องอกหรือน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ
  3. ภาวะก้อนเนื้องอกหลุดไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆ (Embolism) : ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด สมอง เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งหัวใจ

     พบได้โดยการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiography) เป็นการตรวจที่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมาก เพราะสามารถเห็นตำแหน่งก้อนเนื้องอกได้ชัดเจน เห็นว่าก้อนลุกลามถึงลิ้นหัวใจ หลอดเลือดแดงหัวใจ หรือมีเลือดออกในช่องเยื่อบุหัวใจหรือไม่ ซึ่งช่วยในการวางแผนผ่าตัดได้ดี และมีการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจด้วย Cardiac CT, Cardiac MRI, PET Scan สามารถใช้ร่วมในเป็นการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะดูการลุกลามแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ

     แม้ว่าเนื้องอกในหัวใจจะเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจนเสียชีวิตได้มาก การตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยทุกปี อาจทำให้เจอโรคได้เร็ว ผลการรักษาและการพยากรณ์โรคย่อมดีกว่าเจอเมื่อมีอาการมากแล้ว