ปวดแบบไหนเสี่ยงมะเร็งลำไส้

อาการท้องผูก หรือท้องเสียหลายท่านอาจคิดว่าเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เเต่ทราบหรือไม่ว่าอาการท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรังนี้เป็นหนึ่งในอาการสำคัญของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยในปัจจุบันพบว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการตายจากโรคมะเร็ง ในระยะเเรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการจึงทำให้ตรวจพบได้ยาก โดยจะเริ่มมีอาการรุนเเรงมากขึ้นเมื่อมะเร็งแพร่กระจายแล้ว ทำให้การรักษาซับซ้อน และอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากมะเร็งอยู่ในระยะรุนแรง




มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร?

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (colon cancer หรือ colorectal cancer) คือ การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ จนกลายเป็นเนื้องอกจากนั้นมีการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง ทำให้ลำไส้ใหญ่มีการทำงานที่ผิดปกติหรือสูญเสียการทำงานในการดูดซึมน้ำเเละเเร่ธาตุ ส่งผลต่อลักษณะของอุจจาระเเละการขับถ่าย จากนั้นเซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เเละเเพร่กระจายเข้าสู่กระเเสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ

อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่

  •  อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอาการแสดงขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยมักจะมีอาการดังนี้
  •  ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียที่รักษาเเล้วไม่หายขาด หรือมีท้องผูกสลับท้องเสีย ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคลำไส้แปรปรวน
  •  ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีเลือดออกบริเวณทวารหนัก
  •  อุจจาระผิดปกติไปจากเดิม กล่าวคือ มีปริมาณเเละความถี่ที่เปลี่ยนไป
  •  มีอาการเเน่นท้อง ปวดท้อง หรือท้องอืดเป็นประจำ
  •  อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
  •  คลำเจอก้อนบริเวณช่องท้องด้านขวา  

สาเหตุมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้เเน่ชัดว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากอะไร โดยจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมเเละประวัติคนในครอบครัวที่มีผู้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป พร้อมทั้งพฤติกรรมการดูเเลสุขภาพ อาหาร เเละการออกกำลังกายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน

มะเร็งลำไส้ใหญ่อันตรายอย่างไร?

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งลำดับที่ 4 ของมะเร็งทั้งหมด มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเเรกมักไม่มีอาการ เเต่เมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามจะทำให้มีอาการชัดเจนขึ้น ซึ่งจะมีความอันตรายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเซลล์มะเร็งอาจจะเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เเละตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเเรก ๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลลัพธ์ในการรักษา เเละอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างมาก โดยหากพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะสุดท้ายจะมีอัตราการรอดชีวิตภายใน5 ปี เหลือเพียง 13%

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีกี่ระยะ?

มะเร็งลำไส้ใหญ่เเบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
  • ระยะที่ 1 จะพบเป็นก้อนหรือติ่งเนื้องอกบริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่
  • ระยะที่ 2 ก้อนเนื้องอกกลายเป็นเซลล์มะเร็งเเละเเพร่กระจายสู่ผนังลำไส้ใหญ่
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งเเพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองเเละเข้าสู่กระเเสเลือด พร้อมทั้งลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

การวินิจฉัยมะเร็งสำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองเเละวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้ไม่มีอาการใดๆ ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรรับการส่องกล้องหรือปรึกษาจากแพทย์ เพื่อเช็กก่อนเป็นมะเร็งทุกราย มีดังนี้
  • การตรวจร่างกายเเละการซักประวัติครอบครัว
  • การใช้นิ้วคลำตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจเลือดเเละตรวจหาสารบ่งชี้ของโรคมะเร็ง
  • การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test)
  • การตรวจลำไส้ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy) หรือหากพบเนื้องอกตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองเซลล์มะเร็ง
  • การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (Computer Tomography Colonoscopy)

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาหายไหม?

มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบในระยะเเรก ขณะเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญอื่น ๆ โดยการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มี 3 วิธีหลักคือ
  1. การรักษาโดยการการผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อมะเร็งออกเพื่อยับยั้งการเเพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  2. การรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด หรือคนทั่วไปเรียกว่า การให้คีโม คือการให้ยาเข้าไปหยุดหรือชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้เเพร่กระจาย เเละอาจจะใช้วิธีนี้ร่วมกับการผ่าตัด หรือให้ยาเคมีบำบัดในกรณีที่มีข้อห้ามหรือมีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง 
  3. รังสีรักษา หรือที่รู้จักกันในชื่อ การฉายแสง คือการรักษาโดยใช้รังสีเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง โดยฉายรังสีจากภายนอกร่างกายไปยังบริเวณที่มีเซลล์มะเร็ง  
โดยเเพทย์อาจพิจารณาการรักษาทั้ง 3 วิธีร่วมกัน เพื่อทำการกำจัดเนื้อร้ายที่มีเซลล์มะเร็งเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลาม เเละควบคุมหรือลดการเเพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้การตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งเเต่ระยะเเรก ๆ จะทำให้ความสำเร็จในการรักษามีมากขึ้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองและการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลลัพธ์จากการรักษา

การป้องกันมะเร็งสำไส้ใหญ่

การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุดคือเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ดังนี้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในกลุ่มเนื้อเเดงเเละเนื้อสัตว์แปรรูป
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทปิ้งย่าง อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีกากใยอาหารต่ำ
  • รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใย
  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  • ผู้ที่ภาวะอ้วนเเละมีน้ำหนักเกิน ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาเเพทย์เเละเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่แม้อายุยังน้อย

มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเเรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ เเต่จะมีอาการมากขึ้นตามการเเพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่ลุกลาม การตรวจสุขภาพประจำปีเเละการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เเละหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเป็นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด และหากตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ในระยะเเรก ๆ จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จเเละเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตขึ้นอย่างมาก