สาเหตุของไข้หวัด
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยติดต่อกันทางน้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม โดยเฉพาะการอยูในที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ในเด็กเล็กและคนสูงอายุ อาจติดไข้หวัดได้ง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าในช่วงอายุอื่นๆ
ไข้หวัดแบ่งได้ 2 ประเภท
1.ไข้หวัดธรรมดา เกิดจากเชื้อไวรัสทางเดินหายใจได้หลายชนิด อาการมักไม่รุนแรงมาก มีไข้ต่ำ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก โดยอาการเหล่านี้ สามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
2.ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza มีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ลักษณะอาการมีไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และในบางรายมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
อาการของไข้หวัด
อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล ส่วนมากในช่วงแรกจะมีน้ำมูกใส ถ้าเป็นหลายวัน สีน้ำมูกจะชันขึ้น นอกจากนี้จะมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก ในเด็กเล็กอาจจะมีอาการกวน หรืองอแงมากกว่าปกติ
โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออกจะแยกจากไข้หวัดธรรมดาได้อย่างไร
โรคไข้หวัดธรรมดามักจะไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ มีอาการน้ำมูก ไอ จามชัดเจน ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่มักจะไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยจะค่อนข้างชม ขณะที่เด็กเป็นไข้หวัดธรรมดาอาจงอแงบ้างแต่ยังเล่นได้ ส่วนไข้เลือดออกนั้นจะมีไข้สูงลอย ทานยาลดไข้ไข้ก็ไม่ค่อยลง มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระดูก อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มักมีจุดเลือดออกหลังจากมีไข้ 3 -4 วัน มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ดังนั้นกรณีที่มีไข้สูงลอยเกินกว่า 2 - 3 วัน และมีอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ โรคไข้หวัดโดยทั่วไป อาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง (ในกรณีเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว)
การดูแลเบื้องต้น
1. ควรให้ความอบอุ่นที่เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องเพื่อช่วยให้ร่างกายเย็นลง
2.เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา โดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
3.ทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ทั้งนี้ควรกินตามที่ฉลากยาหรือขนาดที่เภสัชกรแนะนำ หมั่นตรวจวัดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมงเพื่อสังเกตอาการ โดยสามารถให้ยาทุก 4-6 ชั่วโมงได้หากยังมีไข้
4.หากดูแลเบื้องต้นถึง 48 ชั่วโมงแล้วไข้ยังไม่ลดลง หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ซึม เหงื่อมาก อาเจียน ควรพาไปพบแพทย์
5.หากเด็กมีอาการชัก ให้จับเด็กนอนตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งโดยไม่ต้องหนุนหมอน ห้ามป้อนยาและน้ำ รวมถึงเอาสิ่งของ ช้อน หรือแม้แต่นิ้วมืองัดปาก ควรรีบเช็ดตัวแล้วพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
6.เมื่อเด็กมีอาการดีขึ้นสามารถหยุดทานยาแก้หวัดได้ แต่ต้องคอยเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก อาการปวดหู ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
การใช้ยา ในกรณีที่การรักษาเบื้องต้นไม่ดีขึ้น
ถ้าลูกยังมีอาการน้ำมูกแน่น หรือคัดจมูกมาก คุณพ่อคุณแม่สามาถให้ลูกรับประทานยาแก้หวัดได้ โดยต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวของลูก ส่วนยาแก้หวัด พวกต้านฤทธิ์ฮีสตามีนนั้นไม่นิยมให้ในเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดรับประทาน ยากลุ่มนี้จะทำให้น้ำมูกแห้งและจามน้อยลง ส่วนอาการคัดจมูกจะต้องใช้ยากลุ่มที่ยุบบวมในจมูก ซึ่งไม่นิยมในเด็กเล็กเช่นกัน ในกรณีแน่นจมูกมาก หายใจไม่ออก อาจให้ยาเช็ดจมูกช่วยยุบบวมในจมูกได้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วช่วยให้โล่งจมูกทันที แต่ไม่ควรจะใช้นานเกิน 3 วัน ถ้าใช้แล้ว 3 วันจะต้องหยุดยาก่อน ถ้าเป็นใหม่ครั้งต่อไปสามารถนำมาใช้อีกได้ ยานี้ถ้าใช้ติดกันนานจะเกิดผลขัางเคียงต่อจมูกทำให้เยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบและบวมเพิ่มขึ้นได้ ส่วนยาปฏิชีวนะที่เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักสบนั้นไม่ควรให้ผู้ป่วยหวัดทั่วไป เนื่องจากโรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จะนำมาใช้ในกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกช้อน หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานอยู่เดิมเท่านั้น ยาฆ่าเชื้อไวรัส ยังไม่มียาที่นำมาใช้เฉพาะสำหรับโรคนี้ เนื่องจากอาการไม่รุนแรงและอาจมีผลข้างเคียงด้วยยกเว้นในกรณีข้หวัดใหญ่ มีการใช้ยา Oseltamivir ในการรักษา
วัคชีนป้องกันโรคไข้หวัดมีหรือไม่
เนื่องจากโรคไข้หวัดสามารถเกิดจากไวรัสหลายชนิด การทำวัคชีนเป็นไปได้ยาก จึงยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ วัคชีนที่ควรฉีดคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ฉีดได้ทุกช่วงอายุ และควรฉีดทุกปี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ
ข้อแนะนำในการดูแลร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด
1. ทำร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะหน้าฝน ควรพกร่ม หรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ ถ้าหากเปียกฝนรีบเช็ดตัวให้แห้งเร็วที่สุด ไม่ให้โดนอากาศเย็น
2. ควรเลี่ยง ฝุ่น ควัน รวมถึงควันรถ ควันบุหรี่ด้วยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อไข้หวัดได้ง่ายขึ้น
3. ไม่ควรอยู่ในที่แออัดที่อากาศถ่ายเทไม่ดี หรืออยู่ร่วมกับคนที่เป็นไข้หวัด จะทำให้ติดไข้หวัดได้ง่าย ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยรับประทานอาหารให้เพียงพอ และถูกสัดส่วน รวมทั้งออกกำลังให้เพียงพอ
4. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี