ถ้าคุณแม่ ไม่ฝากครรภ์ มีผลเสียต่อลูกจริงมั้ย

การฝากครรภ์ (Antenatal Care) คือ การดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งจะเป็นการดูแลแบบครอบคลุม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยมีการนัดตรวจติดตามสุขภาตลอดระยะการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในผู้ที่ตั้งครรภ์ทุกคน



ทำไมถึงต้องฝากครรภ์

นอกจากการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์แล้ว หากช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่ามีปัญหาหรือพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้รีบปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้ทันที เนื่องจากสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้ และจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์ ได้แก่

  1. การปฎิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์
  2. โภชนาการต่าง ๆ
  3. การใช้ยา
  4. การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์
  5. สังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์และอาการเจ็บครรภ์
  6. การเตรียมตัวก่อนคลอด
  7. รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ หลังคลอด เช่น การวางแผนครอบครัว การให้นมบุตร

 เพราะฉะนั้นสำหรับคุณแม่ที่ตรวจพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ควรทำคือ “การฝากครรภ์” เพราะการฝากครรภ์จะเป็นวิธีเดียวที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถทราบว่าสุขภาพของเราและลูกในท้องแข็งแรง สมบูรณ์หรือเปล่า


ถ้าไม่ฝากครรภ์ จะมีผลกระทบอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป 80% ของคนท้องหรือตั้งครรภ์ สามารถตั้งท้องได้โดยไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่อีก 20% คือกลุ่มที่อาจมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการไปฝากครรภ์จะช่วยให้เราค้นพบภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นและป้องกันได้


ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?

แนะนำให้คุณแม่เข้ารับการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อคัดกรองหาความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การเข้ารับการฝากครรภ์เร็วจะช่วยให้

  1. สามารถยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้สามารถคำนวณกำหนดคลอดได้  ,สามารถติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง และสามารถกำหนดเวลาในการวินิจฉัยต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
  2. ได้รับการตรวจเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์
  3. ทำให้สามารถตรวจหาและแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภาวะท้องลม ท้องนอกมดลูก หรืออาการแท้งคุกคาม เนื่องจากการแท้งในช่วง 3 เดือนแรกมักจะเกิดจากตัวอ่อนที่มีโครโมโซมผิดปกติ หรืออาจเกิดจากรังไข่สร้างฮอร์โมนไม่ดี ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ไม่ดีพอ หรืออาจพบเจอซิสต์หรือเนื้องอกที่รังไข่หรือมดลูก
  4. ได้รับสารอาหารและวิตามินเสริมที่เหมาะสมตามอายุครรภ์ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการสารอาหารมากกว่าปกติ เช่น ธาตุเหล็ก โฟลิก ไอโอดีน
  5. ได้ร่วมกิจกรรมเสริมความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับคุณแม่

เมื่อมาฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับการตรวจอะไรบ้าง

1. แพทย์จะทำการซักประวัติ ประวัติการขาดประจำเดือน โรคประจำตัวต่างๆ การตั้งครรภ์และการคลอดในอดีต
2. วัดความดันโลหิต เพื่อประเมินภาวะความดันโลหิตสูงในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์
3. ตรวจร่างกาย ตรวจดูเปลือกตาว่าซีดหรือไม่ มีภาวะคอโตหรือเปล่า ตรวจเต้านมว่าหัวนมผิดปกติหรือไม่
4. ตรวจปัสสาวะ

    1. ตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ เพื่อเช็คความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น หากคุณแม่มีน้ำตาลรั่วในปัสสาวะแสดงว่า มีความเสี่ยงเรื่องของโรคเบาหวาน อาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม
    2. ตรวจหาโปรตีน เพื่อให้ทราบว่าคุณแม่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ หรือถ้ามีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับภาวะปัสสาวะมีโปรตีนรั่ว อาจจะเสี่ยงเรื่องของครรภ์เป็นพิษ
    3. นอกจากนี้เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และดูความผิดปกติของภาวะไตหรือครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia)

5.ตรวจอัลตร้าซาวด์ ซึ่งจะเป็นการตรวจที่สามารถบอกได้ว่าทารกในครรภ์มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และจะสามารบอกได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติดีหรือไม่ หรือท้องลม หรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือเปล่า
6.ตรวจเลือด เพื่อดูหมู่เลือด ไม่ว่าจะเป็นหมู่เลือด ABO หรือ RH ,ดูความเข้มข้นของเลือด ว่าความเข้มข้นของเลือดปกติ หรืออยู่ในภาวะซีดหรือเปล่า รวมถึงดูภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่จะกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้ เช่น การตรวจคัดกรองธาลัสซิเมีย ตรวจการติดเชื้อต่าง ๆ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี กามโรค ซิฟิลิส และ HIV รวมถึงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน


คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มไหนบ้างที่อาจจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์อายุน้อยมาก ที่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์
  2. คุณแม่อายุมากเกินไป หรืออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  3. คุณแม่ที่ผอมเกินไป
  4. คุณแม่ที่อ้วนเกินไป หรือมีภาวะโรคอ้วน
  5. คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

อายุ 35 ปี ขึ้นไปมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร

  1. ภาวะมีบุตรยาก
  2. การแท้งบุตร
  3. ความผิดปกติของโครโมโซม 
  4. เพิ่มความเสี่ยงของทารกเสียชีวิตในครรภ์
  5. เพิ่มภาวะแทรกซ้อนของมารดา