มะเร็งเต้านม อายุไม่ถึง 40 ไม่เสี่ยง...จริงมั้ย?

       เรื่องอายุน้อย อายุมาก ในความรู้สึกของคนทั่วไป อาจมีนิยามที่แตกต่างกันแต่สำหรับมะเร็งเต้านมแล้ว ทางการแพทย์ กำหนดคำว่า อายุน้อย ไว้ที่อายุประมาณ 45 ปี ดังนั้น มะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุน้อย แปลว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมในขณะที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี การเป็นมะเร็งในผู้หญิงอายุน้อย กับการเป็นมะเร็งในผู้หญิงอายุมาก มีความแตกต่างกันอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร



       มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่มักพบในผู้หญิงอายุมากกว่า 45 ปี ดังนั้นการตรวจแมมโมแกรม แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเป็นประจำปีในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่แล้ว หากสามารถค้นพบเจอในระยะเริ่มแรก จะเป็นมะเร็งที่รักษาได้ไม่ยาก มีการพยากรณ์โรคดี แต่หากพบในผู้หญิงอายุน้อย อาจไม่ได้รักษาง่ายหรือมีการพยากรณ์โรคดีเสมอไป และอาจจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยด้านอื่นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงญาติสายตรงที่อาจจะต้องได้รับทราบข้อมูลนี้ด้วย

       มะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุน้อย พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคมากกว่า ผลการตรวจทางพยาธิวิทยามักจะเป็นเซลล์ที่มีรูปร่างผิดปกติมากกว่า มีการลุกลาม การกระจายที่มากกว่า ซึ่งหมายถึงระยะโรคมากกว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การได้รับการตรวจที่ช้า  เนื่องจากเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์การตรวจแมมโมแกรม  อีกส่วนหนึ่งมาจากการเห็นรอยโรคได้ยาก ไม่ชัดเจน เพราะเต้านมในคนอายุน้อย มักจะหนาแน่นกว่า และลักษณะพิเศษของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุน้อย คือ เราจะพบในกลุ่มที่เป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง คือมีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์มากกว่า ซึ่งปัจจัยทั้งหมดทำให้พยากรณ์โรคของคนไข้กลุ่มนี้ไม่ค่อยดี


เคสมะเร็งเต้านม อายุน้อย

       ยกตัวอย่างเคสของโจสลิน อดัมส์ (Josilyn Adams) เธอได้เผยแพร่เรื่องราวการตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมในวัย 35 ของตนเองลงในเว็บไซต์ ซึ่งเธอเล่าว่าก่อนตรวจพบเธอนึกถึงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมของเธออยู่เพียงไม่กี่อย่าง คือ ฝั่งคุณยายของเธอมีประวัติรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ เธอเคยใช้ยาคุมกำเนิดอยู่หลายประเภท และดื่มสุราบ้าง

       การวินิจฉัยเริ่มจากที่เธอคลำเต้านมเพื่อตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเป็นปกติแล้วพบว่าเจอก้อนบางอย่างในเต้านมข้างขวา ซึ่งโจสลินรู้ว่ามันไม่ปกติเพราะตั้งแต่เธอให้นมลูก 2 คน มากว่า 4-5 ปี หากเจอก้อนหรือถุงน้ำมากจะหายไปเองหลังรอบประจำเดือน แต่คราวนี้เธอพบว่าก้อนในเต้านมข้างขวามันหดลงแต่ไม่หายไป จึงได้นัดตรวจกับแพทย์ ซึ่งเบื้องต้นเธอตรวจพบเจอมะเร็งท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม Ductal Carcinoma In Situ (DCIS) ระยะ 0

       แพทย์ได้นัดเธอตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การรักษาและการพบแพทย์อาจทำให้เธอหนักใจในหลาย ๆ ครั้ง แต่แพทย์และตัวเธอก็เชื่อว่าหากโชคเข้าข้าง การผ่าตัดที่กำลังจะถึงจะช่วยให้เธอหายจากโรคได้ พร้อมทั้งทิ้งท้ายเอาไว้ในบทความว่าให้หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง หากมีอะไรผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุซะ เพราะมะเร็งเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน


ข้อแนะนำในเบื้องต้น คือ

    1. หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเสมอ
    2. ควบคุมน้ำหนัก
    3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
    5. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
    6. เมื่อมีข้อสงสัย เช่น มีอาการคัดเต้านม, เจ็บเต้านม, มีน้ำไหลออกจากหัวนม ควรจะได้รับการตรวจแมมโมแกรมโดยไม่รอช้า
    7. ถ้ามีประวัติครอบครัวที่มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม อายุน้อยกว่า 45 ปี โดยเฉพาะมะเร็งชนิด Triple Negative, มะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง, เป็นมะเร็งตับอ่อนหรือรังไข่ ควรจะได้รับการตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าคนปกติทั่วไป สำหรับในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือคนไทยที่ได้รับการตรวจยีนส์ BRCA 1, BRCA 2 หากพบการเปลี่ยนแปลง จะมีคำแนะนำให้เริ่มตรวจแมมโมแกรม ตั้งแต่อายุ 25 ปี