การเคาะปอดเมื่อลูกมีเสมหะ

อาการไอ และมีเสมหะ เป็นหนึ่งในอาการป่วยยอดฮิตที่ลูกน้อยเป็นอยู่ประจำ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจรู้สึกกังวลใจเวลาที่ลูกน้อยไม่สบายและไม่รู้ว่าจะช่วยลูกเอาเสมหะนั้นออกมายังไง ยิ่งในเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกเองไม่ได้ ทำให้เสมหะนั้นค้างอยู่ วัฒนแพทย์จึงขอแนะนำวิธีที่ระบายเสมหะให้เจ้าตัวน้อย วิธีนั้นก็คือการ “เคาะปอด”



การ "เคาะปอด" คืออะไร

การเคาะปอด เป็นการใช้ฝ่ามือทำลักษณะเป็นอุ่ง แล้วเคาะไปบนบริเวณหลัง หรือหน้าอกเบาๆ เป็นจังหวะเพื่อให้เกิดการสั่นสะเทือนผ่านผนังทรวงอกลงไปถึงแขนงหลอดลมและปอด มีผลทำให้เสมหะหลุดจากหลอดลม เป็นการกระตุ้นให้เจ้าตัวน้อย ไอ หรือระบายเสมหะออกมาได้ แต่ก่อนจะเคาะก็ต้องรู้ไว้ก่อนว่าควรจะเคาะก็ต่อเมื่อลูกมีอาการ ไอ มีเสมหะมาก หายใจเสียงดังครืดคราด และลูกยังไม่สามารถระบายเสมหะได้ด้วยตนเอง

การวางมือสำหรับท่าเคาะปอด


3 ท่าเคาะปอดเมื่อลูกมีเสมหะ

ท่าที่ 1 อุ่มลูกหันหน้าเข้าตัวในเด็กเล็ก หรือ นั่งโดยวางหมอนหนุนไว้ที่หน้าอกในเด็กโต

อุ้มลูกให้หันหน้าเข้าหาอกคุณพ่อคุณแม่ ให้ศีรษะลูกพาดบนไหล่พ่อแม่หรือแนนลำตัวในเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตนั้นให้นั่งหันหน้าออกจาก พ่อแม่แล้วใช้หมอนหนุนไว้ที่หน้าอกโน้มตัวไปข้างหน้า แล้วเคาะด้านหลังส่วนบนเหนือกระดูกสะบักขึ้นไป หลีกเลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกสะบัก


 

ท่าที่ 2 จัดท่านอนหงาย

จัดท่านอนหงาย ให้ศรีษะหนุนหมอน ใช้ผ้าบางรองบริเวณหน้าอก เคาะบริเวณระดับไหปลาร้าถึงใต้ราวนม


 

ท่าที่ 3 จัดท่าให้ลูกนอนตะแคง

จัดท่าให้ลูกนอนตะแคง ยกแขนลูกขึ้นไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วเคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง ต่ำจากรักแร้ลงมาเล็กน้อย


โดยในเวลาที่เคาะปอดในแต่ละท่า ให้หาผ้าบางๆ มาวางในตำแหน่งที่จะเคาะด้วยนะคะ จะได้ช่วยลดแรงกระแทกลงได้ ลูกจะได้ไม่เจ็บค่ะ และที่สำคัญก็มีข้อที่ควรระวังด้วยนะคะ ควรสังเกตอาการของลูกให้ดี เช่น ถ้าลูกเจ็บหรือปวดบริเวณที่เคาะ หรือมีประวัติการกระแทกที่หน้าอก มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำหายใจจมูกบาน ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ ให้หยุดก่อนนะคะ เพราะอาจเป็นอันตรายได้ และแนะนำเวลาเคาะให้ใช้อุ้งมือ ไม่ใช่ใช้ฝ่ามือเคาะ ต้องเคาะเป็นจังหวะสม่ำเสมอ และใช้เวลาเคาะแต่ละท่านาน 1- 3 นาที ค่ะ ทั้งนี้การเคาะเป็น 1 ในวิธีการที่ช่วยบรรเทาอาการให้ลูกน้อยจากเสมหะได้ แต่หากอาการป่วยของลูกน้อยไม่ทุเลาลง การไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนะคะ