เฝ้าระวังโรคไข้เลือดในเด็ก

กรมควบคุมโรคเผย ข้อมูลจากระบบรายงานเฝ้าระวังโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในปี 2566 (1 ม.ค.- 1 มี.ค.66)

ผู้ป่วยจำนวน 6,156 ราย เสียชีวิต 4 ราย

- กลุ่มอายุที่อัตราป่วยพบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี, 15-24 ปี และ 0-4 ปี คิดเป็น ร้อยละ 27.81, 16.39 และ12.76 ตามลำดับ

- อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายเป็น 1:1.10

- พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ, ภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 23.84, 16.33, 14.07, 4.60 และ1.51 ตามลำดับ

“จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรายเดือน ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 พบว่า ในเดือนมกราคมมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว 6.6 เท่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ผ่านแอปพลิเคชัน อสม./อสส. ออนไลน์ สัปดาห์ที่ 8 จำนวนบ้าน 394,045 หลังคาเรือน พบบ้านที่มีลูกน้ำยุงลายจำนวน 33,661 หลังคาเรือน คิดเป็น House Index : HI ได้ร้อยละ 8.54 และได้ทำการสำรวจภาชนะจำนวน 4,332,352 ชิ้น พบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลายจำนวน 208,425 ชิ้น คิดเป็น Container Index : CI ได้ร้อยละ 4.81 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.พ.66)”

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการของโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบ คือ

- มีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก

- มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน

- ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก

- สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คืออาการช็อก ที่ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว

- บางรายมีภาวะตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

- มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดอาการช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง

- อาการป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออก และช็อกได้ ส่วนการวินิจฉัยโรคในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องตรวจจากการเจาะเลือด ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย