ต่อมทอนซิลอักเสบ แท้จริงแล้วคืออะไร ?

ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้ หนาวสั่น  เจ็บคอ  กลืนลำบาก แต่ด้วยอาการของทอนซิลอักเสบจะคล้ายไข้หวัด ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าแค่ซื้อยามากินเองก็คงหาย แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าทอนซิลอักเสบ สามารถพัฒนาเป็นโรคที่ร้ายแรงได้ แล้วต่อมทอนซิลอักเสบแท้จริงแล้วคืออะไร



ต่อมทอนซิล เป็นต่อมน้ำเหลือง 2 ต่อม ข้างซ้ายและขวาในลำคอ ที่อยู่ด้านข้างกับโคนลิ้น มีหน้าที่ในการจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นที่เก็บกักเชื้อโรค ส่งผลให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังหรือต่อมทอนซิลโต/อักเสบได้


ทอนซิลอักเสบคืออะไร

   “ทอนซิลอักเสบ” (Tonsillitis) เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิล โดยจะแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง พบมากในเด็กอายุก่อน 10 ปี โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส รองลงมาเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้บ่อยคือ สเตร็ปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) โรคทอนซิลอักเสบในเด็กก่อนวัยเรียนมักเกิดจากเชื้อไวรัส และสามารถติดต่อกันได้ง่าย ส่วนโรคทอนซิลอักเสบ ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย


สาเหตุการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ

  • การสัมผัสกับเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย แล้วเผลอกลืนหรือกินเข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของทอนซิลอักเสบในเด็กวัยเรียน
  • การเป็นโรคอื่นๆ มาก่อน แล้วเกิดการป่วยซ้ำซ้อนกลายเป็นทอลซิลอักเสบ โดยมักจะเป็นไข้รูมาติก หรือ โรคไตอักเสบเฉียบพลันรุนแรง
  • การที่พักผ่อนไม่เพียงพอทำให้เชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่โดยปกติแล้วไม่สามารถทำอันตรายใดๆ กับร่างกาย เกิดแข็งแรงขึ้นจนนำไปสู่การเกิดทอนซิลอักเสบได้
  • การไม่รักษาความสะอาดของช่องปาก ทำให้เกิดการสะสมของจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่มากภายในช่องปาก โดยจะเกิดการรวมกับอาหารหรือเครื่องดื่มไหลลงสู่คอ จากนั้นเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นจะถูกดักจับไว้ที่ต่อมทอนซิล เมื่อเชื้อแบคทีเรียมีปริมาณมากเกินกว่าการรับมือของต่อมทอนซิล ก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้

ใครมีโอกาสเป็นทอนซิลอักเสบบ้าง?
   ต่อมทอนซิลอักเสบไม่มีกลุ่มที่เฉพาะเจาะจง แต่มักพบมากในเด็กช่วงอายุน้อยกว่า 15 ปี เนื่องจากเมื่ออายุ 10 ขวบขึ้นไปต่อมทอนซิลจะลดการทำงานลง


ลักษณะอาการต่อมทอนซิลโตและอักเสบ

  • มีอาการเจ็บคอ
  • ต่อมทอนซิลบวมแดง กลืนแล้วเจ็บ
  • มีหนองที่ต่อมทอนซิล
  • มีไข้สูง
  • กลืนอาหารลำบาก
  • มีกลิ่นปาก
  • ปวดร้าวไปที่หู
  • ในเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้อาจมีอาการน้ำลายไหล และอาเจียนหลังรับประทานอาหาร หายใจเสียงดังหรือนอนกรน รวมทั้งอาจมีการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลมร่วมด้วย หากต่อมทอนซิลโตเรื้อรังหลังจากหายติดเชื้อแล้ว อาการเหล่านี้อาจหายไป แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเข้ามาแทนที่ เช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

วิธีการรักษา

1. รักษาตามอาการ

  • หากเกิดจากไวรัสจะทำการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาพ่น หรือยาอมแก้เจ็บคอ
  • หากเกิดจากแบคทีเรีย ต้องเพิ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในช่วงประมาณ 7-10 วัน

2. รักษาโดยการผ่าตัด

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากเกิดจากภาวะแทรกซ้อนมีภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้อาการต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังหายเป็นปกติได้ ในการผ่าตัดแพทย์จะทำการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องปากบริเวณต่อมทอนซิล การผ่าตัดลักษณะนี้ ผู้ป่วยจะไม่มีบาดแผลใดที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

 

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดทอนซิล

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง หรือหนองที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ดีขึ้น หรือต่อมทอนซิลกลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียเรื้อรัง
  • ต่อมทอนซิลที่เกิดการอักเสบซ้ำๆ จนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไม่สบายจนต้องหยุดงาน หยุดเรียนบ่อยๆ
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบ เช่น ภาวะหนองรอบทอนซิล หรือหนองบริเวณลำคอ ภายหลังภาวะแทรกซ้อนอาการดีขึ้น ผู้ป่วยควรตัดต่อมทอนซิลออกเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงซ้ำ
  • ทอนซิลโตจนเบียดทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนอนกรนหรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลหรือเนื้องอกชนิดอื่นๆ ที่ต่อมทอนซิล

การผ่าตัดต่อมทอนซิลต้องเตรียมตัวอย่างไร

   เนื่องจากต้องใช้ยาสลบในการผ่าตัด ผู้ป่วยจึงต้องเข้ามาเจาะเลือดเพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจค่าตับ ค่าไต เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการสำลักเอาเศษอาหารเข้าปอด


การดูแลหลังผ่าตัดต่อมทอนซิล

ช่วง 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • รับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด
  • เลี่ยงอาหารที่มีความแข็งที่จะกระทบกับบาดแผลในลำคอ
  • งดการไอแรงๆ การขากเสมหะ
  • หลังจากรับประทานอาหารทุกครั้ง ให้กลั้วคอเบาๆด้วยน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำเกลือ
  • แปรงฟันเบาๆ งดแปรงเข้าไปในช่องปากลึกเกินไป
  • ทานยาฆ่าเชื้อให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
  • งดการออกกำลังกายหนักๆ ที่จะเสี่ยงให้เกิดเลือดออกจากแผลผ่าตัด
  • หากพบเลือดออกจากแผลผ่าตัดปริมาณมาก ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพบาดแผลผ่าตัด

   เมื่อทราบกันแล้วว่าต่อมทอนซิลอักเสบคืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเรียนรู้และรับมือจึงเป็นแนวทางการลดความเสี่ยง รวมถึงเป็นแนวทางการป้องกันที่ดี และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปเป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการป่วยได้อีกด้วย