การเปลี่ยน..กระจกตา

กระจกตาคือส่วนที่อยู่หน้าสุดของดวงตาดำ ทำหน้าที่หักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตา ทำให้มองเห็นได้และเป็นด่านแรก ในการป้องกันเชื้อโรคคนปกติกระจกตาจะมีความหนา ประมาณ520 ไมครอน แบ่งได้ทั้งหมด 5 ชั้น 

  1. กระจกตาชั้นนอก (Epithelium layer) ประกอบด้วยเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อเกิดแผลจะสามารถสมานได้ใน 7 วัน 
  2. ชั้นเยื่อรับรองผิว (Basement membrane) เป็นชั้นบางๆ ที่ประกอบด้วย collagen
  3. กระจกตาชั้นกลาง (Stroma) เป็นส่วนที่หนาที่สุดของกระจกตา คิดเป็น 90% ของกระจกตาทั้งหมด
  4. ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) เป็นชั้นเนื้อเยื่อบางๆมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นสูง
  5. ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial cell) เป็นชั้นในสุดของกระจกตา มีหน้าที่ดูดน้ำออกจากกระจกตา ทำให้กระจกตาใส ไม่บวมน้ำ

โดยปกติ กระจกตาชั้นที่ 2 และ 3 จะติดกันแน่น เช่นเดียวกับกระจกตาชั้นที่ 4 และ 5 ที่ติดกันแน่น ขอเรียก กระจกตาส่วนที่ 1-3 ว่ากระจกตาส่วนหน้า และชั้นที่ 4-5 ว่ากระจกตาส่วนหลัง เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจเรื่องของการผ่าตัดที่จะกล่าวต่อไป

 

การเปลี่ยนกระจกตาแบ่งออกเป็น

1.การเปลี่ยนกระจกตาทั้งชั้นความหนา (Penetrating keratoplasty =PKP)

        หมายถึงการปั่นเอาตรงกลางของชั้นทุกชั้นออกเป็นแผ่นกลม ๆ และเปลี่ยนเอากระจกตาใหม่เป็นแผ่นกลมๆ ไปสลับ มีไหมเย็บโดยรอบ เพื่อให้กระจกตาใหม่ติดกับกระจกตาผู้ป่วย โดยปกติจะใช้ไหมไนล่อนเล็กมากเย็บ เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาที่ทำกันมานานแล้ว ผู้ที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดนี้ได้แก่ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง การเปลี่ยนกระจกตาทั้งชั้นความหนามีผลต่อความแข็งแรงของกระจกตา กล่าวคือ แผลจากการเปลี่ยนกระจกตาดังกล่าวไม่แข็งแรงเท่าตาปกติที่ไม่เคยได้รับการเปลี่ยนกระจกตา โอกาสเกิดอุบัติเหตุกระแทกทำให้แผลแตกเกิดได้ง่าย ปัญหาการต้านกระจกตา (ร่างกายผู้รับเกิดการต่อต้านกระจกตาใหม่ ทำให้กระจกตากลับมาขุ่นอีก) ปัญหาเกี่ยวกับไหมเย็บกระจกตาขาดโผล่ ไหมหลวม ทำให้ระคายเคือง ปัญหาตาแห้ง ปัญหาค่าความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไปมากทำให้เกิดค่าสายตาสั้นยาวเอียงผิดปกติมากกว่าเดิมซึ่งจะไม่สามารถคาดการณ์ก่อนผ่าตัดได้ อีกทั้งมีความเสี่ยงในขณะผ่าตัดมากกว่าวิธีที่ที่สองและสามเนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่เส้นเลือดในลูกตาจะแตกทำให้สูญเสียการมองเห็นและลูกตาได้ในช่วงเวลาที่กระจกตาจะเปิดออกเป็นช่องว่างก่อนใส่กระจกตาใหม่แม้ว่าโอกาสเกิดจะน้อยมากก็ตาม  อย่างไรก็ดีเป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนและทำมานานหลายสิบปีแล้ว

2.การเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังแบบใส่ด้านหลังของกระจกตาส่วนหน้าเข้าไปด้วย (Descemet’s Strippling Automated Endothelial keratoplasty = DSAEK)

        เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาส่วนหลังโดยที่กระจกตาส่วนหน้าปกติ ได้แก่ผู้ป่วยที่มีกระจกตาบวมน้ำโดยที่ยังไม่มีแผลเป็นของกระจกตาส่วนหน้าหรือมีแผลเป็นเพียงบางๆเท่านั้น วิธีนี้จะเจาะรูเอากระจกตาส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5)ที่ผิดปกติของผู้ป่วยออกมาทิ้ง และเอากระจกตาบริจาคมาตัดกระจกตาส่วนหน้าได้แก่ชั้นที่ 1,2 และส่วนใหญ่ของชั้นที่ 3 ออกไป และเอาส่วนด้านล่างที่เหลือคือ ส่วนบางๆของกระจกตาส่วนที่ 3 และกระจกตาชั้นที่ 4และ5 ใส่เข้าไปในตาผู้ป่วยแทน โดยใช้อากาศเป็นตัวอัดให้กระจกตาใหม่ติดกับกระจกตาของผู้ป่วย วิธีนี้ทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า แผลผ่าตัดมีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตรซึ่งก็เล็กกว่าและแข็งแรงกว่า รวมทั้งการฟื้นตัวดีกว่าและเร็วกว่าวิธีแรก การต้านกระจกตามีน้อยกว่าวิธีแรก อีกทั้งความเสี่ยงของการผ่าตัดน้อยกว่า

3.การเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังเท่านั้น(Descemet’s membrane endothelial keratoplasty = DMEK)

        เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาส่วนหลังโดยที่กระจกตาส่วนหน้าปกติ ได้แก่ผู้ป่วยที่มีกระจกตาบวมน้ำโดยที่ยังไม่มีแผลเป็นของกระจกตาส่วนหน้าหรือมีเพียงบางๆเท่านั้นเช่นเดียวกับวิธีที่ 2 วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีกว่าสองวิธีแรก เนื่องจากสภาพตาหลังผ่าตัดจะเหมือนธรรมชาติเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนเฉพาะชั้นส่วนหลังของกระจกตาจริงๆโดยที่ไม่มีกระจกตาชั้นที่ 3 ใส่เข้าไปด้วยเหมือนวิธีที่ 2 แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 3 มิลลิเมตร ซึ่งขนาดเล็กพอๆกับการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน การประกบติดกันของกระจกตาใช้วิธีอัดอากาศเข้าในตาเช่นเดียวกับวิธีที่ 2  การฟื้นตัวจะเร็วกว่า ทำให้ผู้ป่วยกระจกตาบวมกลับมาใสเร็วกว่า มองเห็นได้ดีกว่า และโอกาสการเกิดการต้านกระจกตาน้อยกว่าวิธีที่ 1 และ 2มาก เพราะส่วนของกระจกตาที่เอาออกและใส่เข้าไปมีความบางมาก (10 ไมครอน)

4.การเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหน้าเท่านั้น (Deep anterior lamellar keratoplasty =DALK)  

        เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาส่วนหน้าเท่านั้น เช่นกรณีเป็นแผลเป็นของกระจกตา กระจกตาขุ่นจากการสะสมของสารบางอย่างในกระจกตาซึ่งเกิดจากโรคทางพันธุกรรม กระจกตาโป่งขั้นรุนแรง วิธีนี้จะเอากระจกตาส่วนหน้าออกทั้งสามชั้น เหลือเฉพาะกระจกตาส่วนหลังชั้นที่ 4 และ 5 และเอากระจกตาใหม่ชั้น 1-3 (ส่วนหน้า)ใส่เข้าไปแทน โดยที่จะมีไหมเย็บเช่นเดียวกับวิธีแรก แผลจะแข็งแรงกว่ามากเมื่อเทียบกับวิธีแรก ถือว่าเป็นการผ่าตัดนอกลูกตา โอกาสเกิดภาวะต้านกระจกตาน้อยกว่าวิธีแรกมาก

 

การดูแลหลังจาก ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

     - ไม่แกะที่ครอบตาออกเอง และพบแพทย์ตามนัดหลังผ่าตัด เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย

     - รับประทานยากดภูมิต้านทาน หยอดตา และปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

     - ห้ามขยี้ตา หรือใช้น้ำประปาล้างตาเด็ดขาด

     - พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอจนกว่าจะหายสนิท เพื่อป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

          หลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอาจผลข้างเคียง อาทิ ระคายเคืองดวงตา สู้แสงไม่ได้ รวมถึงการมองเห็นยังไม่ชัดเจนในช่วง 1-2 เดือนแรก นอกจากนี้โรคบางชนิดอาจมีการมองเห็นหลังการผ่าตัดไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยอุบัติเหตุจากสารเคมีหรือความร้อนเข้าตา รวมถึงโรคแพ้ยาขั้นรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเส้นเลือดผิดปกติในกระจกตา ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นต่อต้าน

          อย่างไรก็ตาม แม้การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจะเป็นการใช้อวัยวะจากผู้อื่นผ่านการบริจาค ซึ่งปกติร่างกายของผู้ได้รับมักทำการต่อต้านอวัยวะที่ไม่ใช่ของตน ผ่านทางกระแสเลือด แต่การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตานั้นมีโอกาสน้อยมากที่ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิต่อต้าน ดังนั้นการเปลี่ยนกระจกตาจึงมีความเสี่ยงน้อย ปลอดภัยสูง และเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยได้กลับมามองเห็นโลกอันสดใสอีกครั้ง