หลังฉีดวัคซีนควรพักรอประมาณ 30 นาที เพื่อสังเกตุอาการแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis)ได้แก่ ปากบวม ผื่น หายใจลำบาก ช็อก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนภายในเวลาเป็นนาที
วิธีสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน
ตุ่มหนอง
มักเกิดจากวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือ บีซีจี (BCG) ที่ฉีดบริเวณสะโพกซ้าย ตุ่มหนองมักจะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะพองๆ ยุบๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะหายไปเองแต่ต้องระวังรักษาความสะอาดอย่าให้ตุ่มหนองเกิดการติดเชื้อ ถ้าพบว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดวัคซีนบีซีจี อักเสบโตขึ้นหรือเป็นฝีให้มาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
อาการปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน
เด็กอาจจะร้องกวนงอแงได้ ถ้ามีอาการปวดบวมให้ใช้เจลเย็น หรือผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่ปวดให้ทำทันที และรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตตามอลร่วมด้วยตามคำสั่งแพทย์จะช่วยบรรเทาอาการได้ หลัง 24 ชั่วโมงแล้ว ถ้าอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้นให้มาปรึกษาแพทย์
อาการไข้ ตัวร้อน
มักเกิดในวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือน และ 4 ปี ผู้ปกครองควรช่วยเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆ พักผ้าตามซอกคอ, ข้อพับต่างๆ และอาจให้รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการไข้เกินกว่า 2 วัน ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ
ไอ น้ำมูก ผื่น
อาการไอ น้ำมูก หรือผื่น อาจพบหลังฉีดวัคซีนในกลุ่มของวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน ไปแล้วประมาณ 5 วัน โดยมากอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าเด็กมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม ไม่เล่น เพลียมาก ไม่ค่อยดูดนมหรือไม่รับประทานอาหาร ควรพามาพบแพทย์
อาการชัก
สาเหตุของการชักมักไม่ได้เกิดจากผลของวัคซีนโดยตรง แต่มักจะเกิดจากการที่มีไข้สูงหลังฉีดวัคซีน วิธีป้องกันคือหลังจากฉีดวัคซีนแล้วผู้ปกครองต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้ต้องเช็ดตัวลดไข้/รับประทานยา อย่าปล่อยให้ไข้สูงเพราะจะทำให้เกิดอาการชักได้
*** วิธีแก้ไขเมื่อลูกชัก: ให้จับเด็กนอนหันหน้าไปด้านข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายและไม่ควรนำสิ่งของ เช่น ช้อน, นิ้วมือ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้สำลักและรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันทีและที่สำคัญเมื่อพาเด็กไปฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเด็กมีอาการชักหลังจากฉีดวัคซีน