แผลแค่นี้มีโอกาสเป็นบาดทะยัก ?

 

 

แค่นี้มีโอกาสเป็นบาดทะยัก?

บาดทะยัก (Tetanus) คือโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ที่สามารถแพร่ผ่านบาดแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกาย มีผลกับระบบประสาท จึงมักทำให้มีอาการเจ็บปวดและเกร็งกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกรและกล้ามเนื้อลำคอ และยังอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โรคบาดทะยัก พบได้ทั่วไปทุกแห่ง โดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์พบติดตามพื้นหญ้าทั่วไปได้นานเป็นเดือนๆ หรืออาจเป็นปี เชื้อจะพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยจะแบ่งตัวและขับ exotoxin ออกมา เชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลลึก อากาศเข้าไม่ได้ดี เช่น บาดแผลตะปูตำ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือ เข้าทางหูที่อักเสบ โดยการใช้เศษไม้ หรือต้นหญ้าที่มีเชื้อโรคนี้ติดอยู่แคะฟันหรือแยงหู บางครั้งอาจเข้าทางลำไส้ได้

 

การป้องกันโรคบาดทะยัก

- เมื่อมีบาดแผล ต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือ ทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมพบแพทย์เพื่อรับยารักษาการติดเชื้อ หรือ รักษาความสะอาดของแผล เมื่อเลือดหยุดไหลให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ด้วยสบู่และผ้าเช็ดแผล แต่หากพบว่ามีเศษสิ่งสกปรกใดๆ ฝังอยู่ในแผลให้รีบไปพบแพทย์ทันที

- ในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลควรพบแพทย์ เพื่อรับยาป้องกันบาดทะยัก ให้ครบ

- ผู้ที่มีบาดแผลใหญ่ ลึก แผลสกปรกมาก ต้องพบแพทย์ทันที

- ในรายที่ได้เคยรับวัคซีนแล้วนานเกิน 10 ปี แพทย์จะพิจาณาให้ยากระตุ้นเพื่อป้องกันบาดทะยัก

- ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยักต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ

- การฉีดวัคซีนบาดทะยัก เป็นวิธีป้องกันโรคบาดทะยักที่ง่ายและได้ผล โดยควรฉีดกระตุ้นเมื่อเกิดแผลสกปรกหรือแผลเปิดที่ผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าตนฉีดวัคซีนครั้งสุดท้ายเมื่อไร และทางที่ดีควรฉีดป้องกันตั้งแต่ยังเป็นทารกด้วยวัคซีน DTaP สำหรับป้องกันทั้งโรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยักในวัคซีนเดียวกัน ซึ่งจะฉีดทั้งหมด 5 ครั้งที่บริเวณแขนหรือต้นแขนเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 15-18 เดือน และเมื่ออายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นจึงฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Tdap สำหรับป้องกันโรคบาดทะยักคอตีบไอกรน หรือวัคซีน Td สำหรับป้องกันโรคบาดทะยักคอตีบทุกๆ 10 ปี

 

อาการของโรคบาดทะยัก

- อาการชักเกร็งหรือกล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บปวดและอ้าปากลำบาก

- กล้ามเนื้อที่ลำคอหดเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวด กลืนและหายใจลำบาก

- มีอาการหดเกร็งที่กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ตามมา เช่น ช่องท้อง หลัง และหน้าอก

- ร่างกายกระตุกและเจ็บเป็นเวลานานหลายนาที ซึ่งมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นเล็กๆ น้อยๆ เช่น เสียงดัง ลมพัด การถูกสัมผัสร่างกาย หรือ สู้แสงไม่ได้

- นอกจากนี้ อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ มีไข้สูง เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว