เทคนิคการผ่าตัดกระดูกทับเส้นประสาท

เมื่อพูดถึงการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือการผ่าตัดที่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ของทั้งตัวผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการรักษา กลัวว่าการผ่าตัดจะเป็นอันตราย รวมถึงหลังผ่าตัดจะมีความเสี่ยงเป็นอัมพาตหรือไม่?



ปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้พัฒนาไปจากในอดีต ทั้งในเรื่องของขนาดของแผลผ่าตัด และมาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนการลดระยะการนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลที่สั้นลง ด้วยเทคโนโลยีของการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้ปลอดภัยขึ้น ขนาดแผลเล็กลง เลาะกล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้เร็วขึ้น


ทำความรู้จักเทคโนโลยีรักษา “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”

การผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกออก มีหลายวิธี ดั้งเดิมคือ การผ่าตัดแบบเปิดแผลที่กลางหลัง ขนาด 6-10 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอ้วนผอม ความหนาของชั้นไขมันที่หลังของผู้ป่วย เมื่อเปิดแผลแล้วจึงทำการเลาะเอากล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังตรงตำแหน่งที่ตรงกับหมอนรองกระดูกที่เป็นก้อนปัญหาออกจากกระดูกสันหลัง แล้วใช้เครื่องถ่างกล้ามเนื้อไว้จากนั้นก็เปิดช่องที่กระดูกสันหลังตรงตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อเข้าไปในช่องไขสันหลัง เมื่อพบเส้นประสาทแล้วจึงใช้เครื่องมือดันเส้นประสาทไปตรงกลางเพื่อให้เห็นส่วนของหมอนรองกระดูกที่ยื่นหรือแตกออกมากดทับเส้นประสาท จากนั้นใช้เครื่องมือ คีบเอาส่วนที่กดทับออก แล้วจึงเย็บปิดแผล วิธีการนี้ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน และต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นสภาพร่างกายประมาณ 4-6 สัปดาห์ ต่อมามีการพัฒนามาเป็นการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยกล้อง Microscope


การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยกล้อง Microscope

Microscope คือการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งทำหน้าที่ในการขยายภาพในจุดที่ทำการผ่าตัดให้ใหญ่ขึ้นและชัดเจนขึ้น ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด แต่วิธีนี้ก็   ยังต้องเปิดแผลผ่าตัดอยู่ประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อเลาะกล้ามเนื้อบางส่วนออก ต่อมาเริ่มพัฒนาให้มีการผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้ กล้องMicroscope  ร่วมกับการใช้ท่อ Tubular Retractor ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อที่จะทำให้ลดขนาดของแผลผ่าตัดลงไปได้อีก เรียกว่าMicroendoscope ซึ่งแผลผ่าตัดลดลงเหลือประมาณ 2 เซนติเมตร พร้อมทั้งลดการเลาะกล้ามเนื้อลงได้ด้วย


การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยกล้อง Endoscope

เทคโนโลยีการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ซึ่งเป็นการพัฒนาการอีกขั้นเพื่อใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง วิธีนี้จะเป็นการผ่าตัดที่สอดกล้องเล็กๆ เข้าไปในตัวของผู้ป่วยและแสดงผลจอมอนิเตอร์ที่ฉายภาพ ให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยได้ชัดเจน สามารถลดขนาดแผลจากเดิมลงเหลือ 8 มิลลิเมตร. – 1 เซนติเมตร  เมื่อแพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก


การผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยเทคโนโลยี Nucleoplasty

ปัจจุบันนอกจากการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกแล้ว มีเทคโนโลยีการรักษาที่เรียกว่า นิวคลีโอพลาสตี้ (Nucleoplasty) ซึ่งเป็นการใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในหมอนรองกระดูกบริเวณที่มีปัญหา แล้วปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุ ทำให้เกิดความร้อนที่ปลายเข็ม ความร้อนนั้นจะไปสลายหมอนรองกระดูกที่เกินหรือยื่นออกมาไม่ให้กดทับเส้นประสาท ทำให้อาการปวดหลังหายไปโดยไม่ต้องผ่าตัด จะมีแผลขนาดเล็กเพียงรูเข็ม ที่เกิดจากการแทงเข็มเท่านั้น เป็นการรักษาโดยที่ไม่ต้องวางยาสลบ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ การรักษาวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่มาก ยังไม่ร้าวลงไปยังขา และรักษาด้วยยาหรือทำกายภาพแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ แต่หากมีอาการรุนแรง มีอาการปวดร้าวลงขา การรักษามักจบลงที่การผ่าตัด

เรียกได้ว่าปัจจุบันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งว่าเป็นผลดีกับผู้ป่วยแต่ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแต่ละราย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย ณ ปัจจุบัน เป็นสำคัญ โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยมากที่สุด