เมื่อไหร่……ควรตรวจมะเร็งเต้านม !!!

 

“มะเร็งเต้านม” เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิง

มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้อาจมีการแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ เป็นต้น การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้

 

เมื่อไหร่.....ที่ควรตรวจ !

- เมื่อเป็นผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

- เมื่อเป็นบุคคลที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม

- เมื่อคลำพบก้อนเนื้อ มีเลือดออกที่หัวนม หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่บริเวณเต้านม

- เมื่อเป็นผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยมีบุตร

- เมื่อเป็นผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี

- เมื่อเป็นผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

 

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง ดิจิตอล แมมโมแกรม  (Digital Mammogram)

เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ไม่สามารถตรวจพบจากการตรวจร่างกาย สามารถมองเห็นลักษณะความเข้มทึบที่ต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิด เป็นวิธีที่รวดเร็ว ปลอดภัย และให้ผลได้ชัดเจน

 

เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมคืออะไร ?

ดิจิตอลแมมโมแกรม คือการตรวจเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจทางรังสีที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงและคมชัดมากกว่า ทำให้สามารถค้นหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งบางครั้งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถคลำหรือตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์พบ ดังนั้นการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมจึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก

 

การตรวจเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมดีอย่างไร ?

- ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก (Early Detection, Save live)

- ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายเอกซเรย์เต้านมด้วย Digital Mammogram ลดลง 30-60 % เมื่อเทียบกับเครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบ Analog

- ลดเวลาในการทำ Mammogram เนื่องจากถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องคอยเปลี่ยนฟิล์มและล้างฟิล์ม

- ผู้ป่วยเจ็บเต้านมน้อยลงและรู้สึกสบายขึ้นขณะทำแมมโมแกรม เนื่องจากมีแผ่นกดเต้านมชนิดพิเศษที่สามารถเอียงตามสัณฐานของเต้านม

- แพทย์ผู้ตรวจเรียกดูภาพได้จากหน้าจอมอนิเตอร์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอดูจากฟิล์ม และได้ภาพที่มีความคมชัดมากกว่าทำให้ลดการถ่ายเอกซเรย์ซ้ำ

 

ตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ

- ยืนหน้ากระจก แล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง แล้วสังเกตว่า ขนาด รูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนม เป็นอย่างไร และควรเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเดือนก่อน

- หลังจากนั้นให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆ หมุนตัวช้าๆ เพื่อที่จะดูบริเวณด้านข้างของเต้านม

- มือเท้าเอว และโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย ดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง

- ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่

- เริ่มคลำเต้านม ให้คลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครงคลำเต้านมให้ทั่วทิศทาง การคลำทำได้หลายแบบ สิ่งที่สำคัญคือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน

- เมื่อเสร็จการคลำในท่ายืนแล้ว  ให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอนใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ แล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน

 

อาการแบบไหน ควรรีบมาพบแพทย์

- ก้อนเนื้อเต้านมหนากว่าปกติ Lump or thickening (breast, underarm)

- ผิวหนังแดง หรือร้อน

- รูขุมขนใหญ่ขึ้นเหมือนผิวส้ม

- ผิวหนังบุ๋ม  หรือมีการหดรั้ง

- มีการนูนของผิว

- ปวดกว่าปกติที่เคย

- คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม และฐานรอบหัวนม

- หัวนมบุ๋ม

- การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง

- เลือดไหลออกจากหัวนม

- มีแผลที่หายยากของเต้านม หัวนม

 

การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การมาตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด