โรคหัวใจ...กับการตรวจสุขภาพที่ต้องใส่ใจ

    โรคหัวใจ ถือเป็นโรคที่มีขอบเขตการเจ็บป่วยที่กว้าง โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพภายในหัวใจ และหลอดเลือดจึงทำให้มีความหลากหลายของโรค และเมื่อมีความผิดปกติที่อวัยวะส่วนใดของหัวใจก็จะเกิดเป็นโรคหัวใจชนิดนั้นๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือการส่งสัญญาณกระแสไฟฟ้าในหัวใจ เป็นต้น โดยพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไขมันพอกในหลอดเลือดหัวใจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ การเกิดฝีในลิ้นหัวใจ ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ที่พบบ่อย คือ การสูบบุหรี่ มีไขมันในเลือดสูง และพันธุกรรม เป็นต้น

โรคหัวใจ...ที่พบบ่อย
   1. หลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease)

   ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บหน้าอก วูบ หมดสติ เป็นลม โดยมีสาเหตุจากหลายภาวะร่วมกัน เช่น พันธุกรรม การสูบบุหรี่ ไขมันพอกหลอดเลือด อายุ โรคประจำตัวอื่นๆ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาโดยทันที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยกระบวนการรักษา คือ 

   1.การให้ยาละลายลิ่มเลือด
   2.การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด
   3.การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

   เราสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ อย่างการรับประทานอาหารก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ไม่หวาน มัน เค็ม ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หมั่นออกกำลังกาย และหากมีโรคประจำตัวก็ต้องควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ

2.หัวใจวายเฉียบพลัน (Heart failure)

   ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคที่เด่นชัด คือ เหนื่อยง่าย ขาบวม นอนราบแล้วเหนื่อยมากขึ้น โดยอาการของโรคจะมีปัจจัยเสริม จากปัญหาสุขภาพเป็นตัวกระตุ้น เช่น ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี ภาวะซีด ภาวะไทรอยด์ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งแพทย์จำเป็นต้องค้นหาความผิดปกติเหล่านี้ให้พบและทำการรักษาทันที ซึ่งถือเป็นการรักษาภาวะหัวใจวายได้ตรงจุดที่สุด

3.หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)
   เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะธรรมชาติ ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะส่วนต่างๆเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งมักพบอาการสัญญาณเตือนของโรคที่เด่นชัด คือ ใจสั่น หน้ามืด วูบ และอาจเสียชีวิตได้  เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด มีหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยกระตุ้น จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจำแนกแยกโรคให้ชัดเจน ก่อนวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด ซึ่งการรักษาอาจทำด้วยวิธีการทานยา หรือจี้ไฟฟ้า เป็นต้น

4 วิธีการตรวจคัดกรองสุขภาพและการทำงานของหัวใจ ช่วยรู้ทันความเสี่ยง...เลี่ยงการเจ็บป่วย พร้อมรักษาได้ทันท่วงที
   1.EKG (Electrocardiography) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

   เป็นการตรวจการทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจ ด้วยหลักการจับกระแสไฟฟ้าขั้วบวก ขั้วลบ โดยการแปะตัวนำสัญญาณคลื่นไฟฟ้าตามตำแหน่งมาตรฐานของการตรวจ ช่วยค้นหาความผิดปกติของ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจโต การตรวจวิธีนี้สามารถตรวจได้ทุกวัย

   2.ECHO (Echocardiogram)
   การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถตรวจโครงสร้างของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น การบีบตัวการคลายตัวของหัวใจ ลักษณะห้องหัวใจ การหนาตัวของผนังหัวใจ ลักษณะการรั่วหรือตีบของลิ้นหัวใจ ความดันในห้องหัวใจ อีกทั้งยังช่วยในการตรวจวินิจฉัยในผู้ป่วยโรคหัวใจอีกหลายชนิด

   3.EST (Exercise Stress Test)
   การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย ช่วยตรวจประเมินภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขณะออกกำลังกาย ประเมินความสามารถในการออกกำลังกาย ไม่แนะนำการตรวจสำหรับผู้สูงอายุ และมีปํญหาสุขภาพข้อเข่า

   4.Holter Monitoring
   บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง การตรวจต้องสวมอุปกรณ์การตรวจวัดซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็ก เชื่อมต่อกับสายที่ยึดติดกับแผ่น Electrode ไว้กับตัวตลอดเวลาเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงหรือมากกว่า มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ

“อาการและความผิดปกติที่เกิดกับหัวใจและหลอดเลือดจำเป็นต้องจำแนกแยกโรคและภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจมีร่วมด้วยให้ชัดเจน ก่อนวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด” 

โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง  พร้อมดูแลคุณด้วยแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการที่สามารถให้คำปรึกษาทางด้านการดูเเลสุขภาพ  นพ.พันธบูรณ์ หวังภัทราวานิช  แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ   เวลาออกตรวจวันอังคาร-วันเสาร์เวลา 08.00 - 17.00 น.